คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 17, 420 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 47

ชื่อของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยร่วมมีคำว่า "โอเรียนเต็ล"เหมือนกับเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของบริษัทโจทก์ที่ 1 จำเลยร่วมมีเจตนาใช้คำว่า "โอเรียนเต็ล" เป็นชื่อทางการค้าของจำเลยร่วมเพราะชื่อดังกล่าวมีอักษรโรมันคำว่า "ORIENTAL" เป็นอักษรประดิษฐ์ขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน ในขณะที่อักษรโรมันคำว่า "HILL - RESORT CONDOMINIUM" เป็นอักษรขนาดเล็กเขียนไว้ด้านใต้คำว่า "ORIENTAL" แสดงว่าจำเลยร่วมต้องการให้บุคคลทั่วไปเรียกขานชื่อทางการค้าของจำเลยร่วมว่า "โอเรียนเต็ล" ดังนั้น ชื่อและตราเครื่องหมายของจำเลยร่วมคำว่า "โอเรียลเต็ล" จึงเหมือนกับเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้ใช้คำว่า "โอเรียนเต็ล"เป็นชื่อทางการค้าในกิจการโรงแรมมานานจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่สาธารณชนทั่วไปและโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้สำหรับสินค้าหลายจำพวก ดังนั้นหากมีการนำคำว่า "โอเรียนเต็ล" มาใช้ในธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจอื่นในลักษณะเดียวกัน สาธารณชนย่อมเข้าใจว่ากิจการดังกล่าวเป็นกิจการของโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ชื่อทางการค้าส่วนหนึ่งว่า "โอเรียนเต็ล"เพื่อประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกิจการโรงแรมซึ่งเปิดให้บุคคลภายนอกทั่วไปเข้าพักและใช้บริการได้เช่นเดียวกับโรงแรม การกระทำของจำเลยร่วมดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดต่อสาธารณชน การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70, 150, 165 วรรคหนึ่ง, 193/14, 193/30, 193/34 (1), 350

จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 โดยเจตนาจะชดใช้หนี้ที่สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แทนสามีจำเลย หาใช่เป็นการชำระหนี้ให้แก่ก. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของโจทก์เป็นการส่วนตัวไม่ และเมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลโดย ก. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง ก. มีฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ตามกฎหมาย ก. มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 แทนโจทก์โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์อีก บันทึกข้อตกลงที่ ก. ทำแทนโจทก์จึงผูกพันจำเลย

สามีจำเลยซื้อรถแทรกเตอร์ 1 คัน จากบริษัทโจทก์ในราคา 1,400,000 บาท และชำระหนี้ไปบางส่วน คงค้างอยู่ 550,000 บาท การที่จำเลยยอมผูกพันเข้าชำระหนี้ดังกล่าวแทนสามีจำเลยกับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่ความกระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้และไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1)

ก. ได้พูดขู่จำเลยให้ยอมทำบันทึกข้อตกลงว่าเป็นหนี้จำนวน 550,000 บาท แล้วจะไม่ดำเนินคดีเอาความผิดแก่ อ. เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7103

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7103/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680

ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาเนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่1อีกต่อไปเพราะตกลงกันได้โดยจำเลยที่1ได้ออกเช็คพิพาท3ฉบับสั่งจ่ายเงินรวม410,000บาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์และมีจำเลยที่2ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับจำเลยที่2ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้นย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่2จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเองทั้งจำเลยที่2ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าวในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกันรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่2ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่1ออกให้แก่โจทก์จำเลยที่2จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7102/2539

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ม. 33 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1359 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 172 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 21, 26 วรรคสาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ม. 6 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคีณอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530

ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน - หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524และ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก ฯ พ.ศ.2532 ที่กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเท่านั้นที่เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนก็เพื่อให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อใช้ในการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 6 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 เรื่อง ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 32 ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้แทนกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง โจทก์ทั้งสิบสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง แม้ในช่องคู่ความตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และขอให้รับผิดชอบชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสิบสอง ส่วนการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ที่กรมการขนส่งทางบกก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ย้ายไปรับราชการที่กรมการขนส่งทางบกแล้ว จึงหาใช่ฟ้องจำเลยที่ 2ให้รับผิดเป็นส่วนตัวไม่

สำหรับโจทก์ที่ 8 ที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง-คมนาคมนั้น ปรากฏว่าโจทก์ที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่ถูกเวนคืน โจทก์ที่ 7 เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก อันเป็นผลถึงโจทก์ที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 1359 โจทก์ที่ 8 จึงมีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน

คำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสองได้บรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองว่า จำเลยทั้งสองได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 13มีนาคม 2535 เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 และนำไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 12 โจทก์ทั้งสิบสองไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์ทั้งสิบสองเป็นตารางวาละ 12,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสิบสองเห็นว่ายังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบสอง จึงขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสิบสอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสองจึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามป.พ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องแสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาตามคำฟ้องเป็นอย่างดี ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ทั้งสิบสองได้รับแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนเมื่อใดและยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงคมนาคมเมื่อใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสิบสองจึงไม่เคลือบคลุม

ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองถูกเวนคืนโดย พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ…กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง พ.ศ.2532 ซึ่งขณะนั้นพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ใช้บังคับอยู่ แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองที่ถูกเวนคืนและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทราบเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534 และแจ้งให้โจทก์ที่ 12 ทราบเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535 อันเป็นเวลาภายหลังที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534มีผลใช้บังคับแล้ว การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเพิ่งแจ้งราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบภายหลังประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับและโจทก์ทั้งสิบสองฟ้องคดีนี้ต่อมาการกำหนดราคาค่าทดแทนจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองจึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังนั้น การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 (1) ถึง (5) มิใช่กำหนดค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแต่เพียงอย่างเดียวดังที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นปฏิบัติ แต่เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองถูกเวนคืนโดย พ.ร.บ.เวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ…กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง พ.ศ.2532 โดยมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน -หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2524 กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างไว้ก่อน และเมื่อพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ…กรุงเทพ-มหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบังพ.ศ.2532 ไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้ราคาในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน - หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524 คือวันที่ 20 มีนาคม 2524 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นเพิ่งจะตกลงกำหนดเงินค่าทดแทนและแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ทราบเมื่อวันที่ 23ธันวาคม 2534 และแจ้งให้โจทก์ที่ 12 ทราบเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2535หลังจาก พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตัน -หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524 ใช้บังคับนานถึง 10 ปีเศษ การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยใช้ราคาที่ดินในปี 2524 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบสอง เพราะไม่ถูกต้องตามหลักการแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายที่ว่า "ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม" และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสอง ซึ่งมีหลักการสำคัญว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันสมควร ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 จึงต้องพิจารณาจากราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประกอบราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่กับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นในปี 2532 ซึ่งเป็นปีที่ พ.ร.บ.ที่เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองใช้บังคับ จึงจะเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบสอง ที่ศาลอุทธรณ์ให้นำราคาที่ดินในปี 2532 มาพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสิบสอง จึงถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว

ในวันที่ 13 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนไปวางเพื่อชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2535จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนไปวางเพื่อชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 12 จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนดังกล่าว ส่วนจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็เป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม

เอกสารหมาย ล.59 และ ล.60 มิใช่หนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่เป็นหนังสือขอความเป็นธรรม และในขณะยื่นเอกสารดังกล่าว สิทธิในการยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ยังไม่เกิดขึ้น แต่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยทั้งสองนำไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 ตามหนังสือแจ้งการวางทรัพย์ลงวันที่ 17 มีนาคม 2535การที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 วันที่ 7 และ 12 พฤษภาคม 2535 โดยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 7 ถือว่ายื่นในนามของโจทก์ที่ 8 ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย จึงไม่ได้เป็นการยื่นอุทธรณ์ซ้ำซ้อน และเป็นการยื่นอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากจำเลยทั้งสองแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยทั้งสองได้นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี และโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนด60 วัน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้น คดีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 823, 1381, 1720, 1733 วรรคสอง, 1748, 1754

เดิมป. เจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินรวม6แปลงเมื่อป.ถึงแก่กรรมศาลได้มีคำสั่งตั้งจ.เป็นผู้จัดการมรดกของป. และจ.ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง6แปลงดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกจ.จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงเด็กหญิงส. บุตรของป.ซึ่งเกิดกับโจทก์ด้วยแม้ภายหลังจากที่จ. ได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงมาเป็นของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วจ. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่จ.เองในฐานะส่วนตัวนั้นก็จะถือว่าจ. ในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่พิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้เพราะจ.ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1381ดังนั้นการที่จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้ทายาทไปให้แก่ตนเองทั้งหมดในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งแล้วนำไปโอนให้แก่จำเลยที่2ทั้งหมดก็เป็นการกระทำของในฐานะผู้จัดการมรดกที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจจึงหามีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1720,823เมื่อจ. ยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกันก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองมาใช้บังคับไม่ได้ จ.ครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคนจึงถือได้ว่าได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ผู้รับมรดกเด็กหญิงส. ด้วยเมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังมิได้แบ่งกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาห้ามฟ้องคดีมรดก1ปีและ10ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754บัญญัติไว้ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1748เมื่อจ.ได้โอนที่ดินมรดกพิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่ตนเองทั้งหมดและโอนให้แก่จำเลยที่2ไปโดยไม่ชอบโจทก์ในฐานะผู้รับมรดกของเด็กหญิงส.ก็ชอบที่ใช้สิทธิในฐานะการเป็นทายาทของเด็กหญิงส.ที่มีอยู่ต่อกองมรดกฟ้องบังคับให้เพิกถอนการโอนที่มรดกดังกล่าวเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7085

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7085/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296, 296 จัตวา

แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1และผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนทางด้านทิศตะวันออกโดยผู้ร้องที่ 1 มารดายกให้ก็ตาม แต่ในชั้นนี้เป็นชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 กับบริวาร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้ว คงเหลือเพียงบริวารซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปลูกสร้างโรงงานในที่ดินพิพาทมาแต่เดิมอันเป็นผู้ที่จะต้องถูกบังคับในคดีนี้ มิใช่ผู้ร้องทั้งสอง ส่วนที่ผู้เช่าทั้งสามดังกล่าวทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสองภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วกรณีจะทำให้ผู้เช่าทั้งสามไม่ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้เช่าทั้งสามจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296จัตวา (3) ส่วนที่ตามสัญญาเช่าซึ่งผู้เช่าทั้งสามยอมยกสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสองผู้ให้เช่านั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้เช่าที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7066

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7066/2539

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 33 วรรคสาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 127, 142 (5), 143 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 21, 26, 36

การเวนคืนที่ดินตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ฯ พ.ศ.2511และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ.2516 การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการต่อไปในเรื่องค่าทดแทนต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1)ให้นำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกามาพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทนด้วย แต่พระราชกฤษฎีกา มีผลใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2511 จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งราคาทดแทนให้โจทก์ทราบหลังจากนั้นมากกว่า 20 ปี จึงไม่เป็นไปตามครรลอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521มาตรา 33 วรรคสาม จึงให้นำราคาซื้อขายใน พ.ศ.2531ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่มาพิจารณาแทน สำเนาโฉนดที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่43 ตารางวา เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยทั้งสามไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงฟังได้ว่าที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวา จริง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า โจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 10,972,500 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 10,927,500 บาท นั้นเป็นการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26วรรคสุดท้าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในเวลาที่ต่างกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคงที่ตลอดไปจึงไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแก้ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183, 226 (2)

ตามคำฟ้องและคำให้การคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ตามฟ้องเป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่เมื่อคดีมีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่าจำเลยให้คำมั่นว่าจะขายที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์หรือไม่จึงไม่ตรงกับคำฟ้องและคำให้การเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142และมาตรา183ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้คัดค้านไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามมาตรา226(2)แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลสูงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 8

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย1เดือนและศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา4ที่จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้เพราะจำเลยสั่งจ่ายให้ผู้เสียหายโดยมีเจตนาค้ำประกันการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถแม็คโครมิใช่เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อจึงไม่มีความผิดและขอให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษจำเลยอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/12, 193/34 (7), 204 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง

ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ และนำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากสถานประกอบกิจการค้ากับเบิกเงินสดล่วงหน้าจากธนาคารในระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2532ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2532 หลายครั้ง โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระคืนให้โจทก์ โจทก์จึงยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลยและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทดรองที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้า และเบี้ยปรับผิดสัญญาในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,245.77 บาท โดยโจทก์ได้แนบสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีมาท้ายฟ้องเพื่อให้จำเลยตรวจสอบด้วยแล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นรายละเอียดแห่งหนี้ที่แสดงรายการที่จำเลยนำบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้ซื้อสินค้าบริการและเบิกเงินสดในแต่ละครั้งไว้ ซึ่งรายการดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นสถานที่ใดและในวันใด ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าอัตราดอกเบี้ยขณะที่จำเลยผิดสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เท่าไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิต โดยโจทก์ออกบัตรเครดิตให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากสถานประกอบกิจการค้าที่ตกลงรับบัตรของโจทก์โดยสมาชิกไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของสมาชิกที่ธนาคารโจทก์โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์ด้วย และการให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/34 (7)

โจทก์จำเลยได้ตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้ไว้ว่า เมื่อโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนไปแล้ว โจทก์จัดส่งใบแจ้งยอดบัญชีให้จำเลยทราบโดยคิดยอดหนี้ทุกวันที่ 20 ของเดือน กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ปรากฏว่าใบแจ้งยอดบัญชีครั้งสุดท้ายโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2532 ดังนั้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536จึงเกิน 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

« »
ติดต่อเราทาง LINE