คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 823, 1381, 1720, 1733 วรรคสอง, 1748, 1754
เดิมป. เจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินรวม6แปลงเมื่อป.ถึงแก่กรรมศาลได้มีคำสั่งตั้งจ.เป็นผู้จัดการมรดกของป. และจ.ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง6แปลงดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกจ.จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงเด็กหญิงส. บุตรของป.ซึ่งเกิดกับโจทก์ด้วยแม้ภายหลังจากที่จ. ได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงมาเป็นของจ.ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วจ. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่พิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่จ.เองในฐานะส่วนตัวนั้นก็จะถือว่าจ. ในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่พิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้เพราะจ.ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1381ดังนั้นการที่จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้ทายาทไปให้แก่ตนเองทั้งหมดในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งแล้วนำไปโอนให้แก่จำเลยที่2ทั้งหมดก็เป็นการกระทำของในฐานะผู้จัดการมรดกที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจจึงหามีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1720,823เมื่อจ. ยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกันก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองมาใช้บังคับไม่ได้ จ.ครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคนจึงถือได้ว่าได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ผู้รับมรดกเด็กหญิงส. ด้วยเมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังมิได้แบ่งกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาห้ามฟ้องคดีมรดก1ปีและ10ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754บัญญัติไว้ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1748เมื่อจ.ได้โอนที่ดินมรดกพิพาททั้ง6แปลงไปให้แก่ตนเองทั้งหมดและโอนให้แก่จำเลยที่2ไปโดยไม่ชอบโจทก์ในฐานะผู้รับมรดกของเด็กหญิงส.ก็ชอบที่ใช้สิทธิในฐานะการเป็นทายาทของเด็กหญิงส.ที่มีอยู่ต่อกองมรดกฟ้องบังคับให้เพิกถอนการโอนที่มรดกดังกล่าวเสียได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อ ซึ่งเกิดกับนายเปล่ง ใจซื่อ เจ้ามรดกต่อมาเด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อ ได้ถึงแก่กรรมหลังจากนายเปล่ง ใจซื่อ ได้ถึงแก่กรรมแล้วโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเปล่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเปล่งตามคำสั่งศาลไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาทของนายเปล่ง แต่กลับยักยอกโอนที่ดินจำนวน 7 แปลง ของนายเปล่งได้แก่ที่ดินน.ส.3 เลขที่ 246, 242, 204, 49, 74, 219 และโฉนดเลขที่ 29916 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 9 ทั้งหมดซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยางอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่จำเลยที่ 2การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสียหายขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นภริยานายเปล่ง ใจซื่อโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อ จึงไม่ใช่ทายาทชอบด้วยกฎหมายของนายเปล่ง ใจซื่อ เอกสารแจ้งการตายของเด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 หาใช่หลักฐานรับรองการเป็นบุตรของนายเปล่ง ใจซื่อ แต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนเด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อ และทรัพย์มรดกตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 8 เป็นทรัพย์มรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไขผู้เยาว์จะรับไม่ได้ เมื่อศาลยังไม่อนุญาต โจทก์ก็ไม่มีอำนาจกระทำการฟ้องร้องแทนเพื่อรับมรดกได้ทรัพย์สินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 9 นางจี่ ใจซื่อผู้จัดการมรดกของนายเปล่ง ใจซื่อ ได้จัดการแบ่งมรดกเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2526 จึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของนายเปล่ง ใจซื่อ อีกต่อไปโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเพื่อนำมาแบ่งอีก ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และ 1755 เพราะฟ้องเกิน 1 ปี และ 10 ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายและฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วม ขาดนัด ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 242, 246, 204, 49, 74 ที่ดินโฉนดเลขที่ 29916ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่าเด็กหญิงเสริมสุข ใจซื่อ เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเปล่ง ใจซื่อซึ่งนายเปล่งเจ้ามรดกรับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 จึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายเปล่งมีสิทธิรับมรดกโจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของเด็กหญิงเสริมสุขซึ่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528ขณะมีอายุ 14 ปีเศษ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เดิมนายเปล่งเจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหมายเลขทะเบียนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 246, 242, 49, 74,204 และโฉนดที่ดินเลขที่ 29916 ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม2526 ปรากฏตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาเมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2526 ศาลจังหวัดนครปฐม ได้มีคำสั่งตั้งนางจี่ ใจซื่อเป็นผู้จัดการมรดกของนายเปล่ง และนางจี่ ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของนายเปล่งทั้ง 6 แปลง ดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจี่ในฐานะผู้จัดการมรดก นางจี่จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคน รวมถึงเด็กหญิงเสริมสุขบุตรของนายเปล่งซึ่งเกิดกับโจทก์หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการครอบครองมรดกแทนโจทก์ในคดีนี้ผู้รับมรดกของเด็กหญิงเสริมสุขด้วย แม้ภายหลังจากที่นางจี่ได้โอนที่พิพาททั้ง 6 แปลง มาเป็นของนางจี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้ว นางจี่ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่พิพาททั้ง 6 แปลง ไปให้แก่นางจี่เองในฐานะส่วนตัวนั้นจะถือว่านางจี่ในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่พิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้เพราะนางจี่ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ฉะนั้นถึงแม้นางจี่จะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้ง 6 แปลง เป็นของนางจี่แต่เพียงผู้เดียวไว้ดังกล่าวข้างต้นตั้งแต่ปี 2526 แล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่านางจี่ยังครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคนอยู่เช่นเดิม การที่นางจี่ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้ทายาทไปให้กับตนเองทั้งหมดในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งก็ดีแล้วนำไปโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งหมดเมื่อปี2533, 2534 ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนหลัง น.ส.3 เอกสารหมายจ.4 ถึง จ.8 และหลังโฉนดเอกสารหมาย จ.10 ก็ดี ก็เป็นการกระทำของนางจี่ในฐานะผู้จัดการมรดกที่กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ จึงหามีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720, 823 เมื่อนางจี่ยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อฟังว่านางจี่ครอบครองที่พิพาทแทนทายาททุกคนดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ผู้รับมรดกเด็กหญิงเสริมสุขด้วย เมื่อโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังมิได้แบ่งกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาห้ามฟ้องคดีมรดก 1 ปีและ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกตายตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 บัญญัติไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 เมื่อนางจี่ได้โอนที่ดินมรดกพิพาททั้ง 6 แปลงไปให้แก่ตนเองทั้งหมดและโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่ชอบโจทก์ในฐานะผู้รับมรดกของเด็กหญิงเสริมสุขก็ชอบที่ใช้สิทธิในฐานะการเป็นทายาทของเด็กหญิงเสริมสุขที่มีอยู่ต่อกองมรดกฟ้องบังคับให้เพิกถอนการโอนที่มรดกดังกล่าวเสียได้
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง บรรจงหรือตุ่น ยางงาม จำเลย - นาง จี่ ใจซื่อ กับพวก จำเลย - จำเลยร่วม จำเลย - นาย จะเด็ด ใจซื่อ
ชื่อองค์คณะ กอบเกียรติ รัตนพานิช สมมาตร พรหมานุกูล ชลอ บุณยเนตร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan