คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 659

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเคมีภัณฑ์ของแข็งไวไฟประเภทถ่านผงสีดำซึ่งผู้เอาประกันสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา สินค้าดังกล่าวขนส่งมาถึงประเทศไทยการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้รับฝากสินค้าดังกล่าวไว้โดยนำไปเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่3บริเวณท่าเรือกรุงเทพต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าอันตรายของจำเลยที่3ทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องคดีนี้ได้ สถานที่ที่จำเลยที่3นำสินค้าเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทของแข็งไวไฟไปเก็บรักษาไว้ได้แก่คลังสินค้าอันตรายนั้นมีการจัดเก็บสารเคมีอื่นที่อาจทำปฏิกริยากับสินค้าดังกล่าวรวมอยู่ด้วยและสถานที่ที่จัดเก็บมีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพดีเพียงพอดังนั้นเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นซึ่งมีสาเหตุมาจากการกระทำปฏิกริยาทางเคมีของสารเคมีที่เก็บไว้รวมกันแล้วลุกลามไหม้สินค้าพิพาทเสียหายจึงถือได้ว่าจำเลยที่3มิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา659วรรคสองบัญญัติไว้จำเลยที่3จึงต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3076

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3076/2539

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

สัญญากู้เงินมีข้อความว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมไป190,000บาทเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินจำเลยได้นำเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมถือไว้เป็นหลักประกันด้วยเช่นนี้มีความหมายชัดแจ้งว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์ร่วมเป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมไปมิใช่ออกให้เพื่อชำระหนี้แม้ตามสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมภายในวันที่ที่ลงไว้ในเช็คพิพาทก็ตามก็จะตีความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ได้จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5385

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5385/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 185, 195, 215, 225 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 30, 82

ที่จำเลยฎีกาว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดดังฟ้องเพราะขาดองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ กรณีจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528มาตรา30วรรคหนึ่งนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนหางานเพื่อทำงานในต่างประเทศแต่ตามฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยจะได้รับค่าจ้างคนละ40,000บาทต่อเดือนซึ่งผู้เสียหายทั้งหกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้จำเลยซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกคงมีแต่เจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกเพื่อที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายและค่าบริการจากผู้เสียหายทั้งหกเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528 เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิดแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1474 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 290

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่1แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อจำเลยที่2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่1และที่2เป็นสามีภรรยากันผู้ร้องได้อ้างในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกแล้วว่าจำเลยที่1และที่2เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้ง6รายการเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่1และที่2ถือว่าจำเลยที่1มีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่1กับที่2อยู่ด้วยผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290วรรคสี่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา14วันนับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์สินระยะเวลา14วันนั้นนับแต่วันสิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีรวม6รายการซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยและได้ขายทอดตลาดไปรวม4รายการในการขายทอดตลาดครั้งแรกคงเหลือที่ดินพิพาทซึ่งได้ขายทอดตลาดไปในการขายทอดตลาดครั้งที่สองดังนั้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาคราวนั้นในครั้งที่สองเป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนวันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมดผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีกแม้หลังจากขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่2ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีกเมื่อพ้นระยะเวลา14วันนับแต่วันขายทอดตลาดครั้งที่2ก็มิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1หมดไปเพราะผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1ได้ทั้งหมดตามคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งแรกซึ่งศาลได้อนุญาตแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 616, 618

จำเลยเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอนำเรือเข้าเทียบท่าและขนถ่ายสินค้าจากเรือเข้าโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยรายงานเรื่องเรือเข้าออกต่อกรมเจ้าท่าและกรมศุลกากรติดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคนที่มากับเรือแจ้งให้บริษัทอ.ผู้รับสินค้าทราบถึงการมาถึงของสินค้าและให้ผู้รับสินค้าไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยจำเลยเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าเป็นการกระทำแทนบริษัทผู้ขนส่งสินค้าเท่านั้นไม่พอให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับบริษัทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616และมาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเรื่องรับขนของทางทะเลเพราะในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการนั้นและไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งร่วมในการขนส่งสินค้าพิพาทจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าพิพาทสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9884

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9884/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 330 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ม. 48

หนังสือพิมพ์ที่จำเลยเป็นบรรณาธิการลงข้อความในข่าวหน้า 3 ย่อหน้าแรก พูดถึงเรื่องข้าราชการรัฐสภาล่าลายเซ็นส.ส. เพื่อให้แปรญัตติงบประมาณจัดซื้อสินค้า เพื่อหวังค่านายหน้าจากผู้ขายสินค้า ในย่อหน้าที่สอง พูดถึงเรื่องข้าราชการของรัฐสภาผู้นี้เป็นนายหน้าจัดหาผู้หญิงให้แก่ ส.ส. ซึ่งกรณีนี้ข้าราชการหญิงผู้นี้เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบการพาดหัวข่าวที่ว่า ลากไส้อีโม่ง กินงบ ค้ากามกลางสภาจะเห็นได้ว่าเป็นการพูดกล่าวหาโจทก์คนละเรื่องคนละตอนกัน สำหรับข้อความ ในตอนที่สองทำให้เข้าใจว่า โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาเด็กผู้หญิงมาให้ ส.ส. ซึ่งได้มีการสอบสวนลงโทษโจทก์มานานแล้วก่อนที่จำเลยจะนำมาลงเป็นข่าว การลงข่าวดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลงข่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่ มุ่งประสงค์จะให้จำเลยต้องรับผิดในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484ที่โจทก์บรรยายในตอนแรกว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ โฆษณา ก็เป็นการบอกถึงฐานะของจำเลยเท่านั้น ประกอบกับ โจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมาด้วยศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6032

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6032/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 865 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138

โรงพยาบาลอุดรธานีได้ถ่ายสำเนาประวัติการรักษาตัวของบ.มอบให้ก.และก.ได้รายงานแจ้งไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่1เมื่อวันที่16พฤศจิกายน2533ซึ่งตามรายงานดังกล่าวระบุว่าจากการตรวจสอบเชื่อได้ว่าบ.มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ก่อนทำประกันอย่างแน่นอนและป่วยเป็นมะเร็งทั้งตามหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตจำเลยที่1ก็อ้างว่าแพทย์เคยวินิจฉัยว่าบ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งของท่อน้ำดีจำเลยที่1ย่อมมีเหตุควรรู้ได้แล้วว่าบ. เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งและเคยได้รับการตรวจรักษามาแล้วแต่บ. ปกปิดความจริงดังกล่าวฉะนั้นจึงฟังได้ว่าจำเลยที่1ได้รู้มูลเหตุที่จะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตตั้งแต่วันที่16พฤศจิกายน2533ที่จำเลยที่1ได้รับรายงานของก. แล้วการที่จำเลยที่1บอกล้างสัญญาประกันชีวิตในวันที่19มิถุนายน2534จึงเกิน1เดือนนับแต่วันที่จำเลยที่1รู้มูลเหตุที่จะบอกล้างได้จำเลยที่1จึงต้องแก้คดีตามคำท้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6028

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6028/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 653

จำเลยโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653แต่เป็นการชำระหนี้อย่างอื่น เมื่อโจทก์ยอมรับแล้วหนี้เงินกู้จึงระงับลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5981

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980 - 5981/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอ. ให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอ. เพื่อนำไปส่งอีกที่หนึ่งถือว่าบริษัทอ.ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. แล้วจำเลยที่1หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่เมื่อจำเลยที่1ร่วมกับจำเลยที่2เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัดน. เป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ส่วนจำเลยที่2มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหายแม้ได้ร่วมกับจำเลยที่1ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วยเพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่1จำเลยที่2จึงมีความผิดตามมาตรา335(1)(7)วรรคสาม,83เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. เป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอ. ไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึก การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน.สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอ.ถือว่าบริษัทอ. ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. ย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วยเพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม,83 เท่านั้น

« »
ติดต่อเราทาง LINE