คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคท้ายต้องเป็นเรื่องความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าศาลอุทธรณ์ภาค3ได้วินิจฉัยในตอนแรกว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1กระทำผิดฐานพยายามฆ่าแม้หลังจากผู้เสียหายถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงที่ไหล่และหลังแล้วผู้เสียหายได้วิ่งออกจากที่เกิดเหตุจำเลยที่1ถือมีดวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปก็เป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามที่โจทก์ฟ้องดังนั้นข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าจำเลยที่1มีความผิดฐานพยายามทำร้ายจึงเป็นการ พิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572
สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวแต่สัญญาฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องสาระสำคัญไม่มีลักษณะที่จำเลยทั้งสองนำทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นให้โจทก์แม้จะระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อสัญญาดังกล่าวก็หาเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 ทวิ, 177 วรรคสาม
จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนสมุดบัญชีเงินฝาก1เล่มราคา10บาทให้แก่จำเลยเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เพราะจำเลยมิได้ประสงค์จะถือเอาราคาของกระดาษสมุดบัญชีเงินฝากเป็นสำคัญแต่มุ่งประสงค์เอาหลักฐานการฝากถอนเงินที่มีอยู่ในธนาคารตามสมุดบัญชีเงินฝากเท่านั้นจึงเป็นการฟ้องเรียกหลักฐานการฝากเงินถือว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5219/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288, 295
จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนแต่ไม่รุนแรงมากถึงกับคิดจะฆ่าผู้เสียหายแม้มีดที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายเป็นมีดปลายแหลมคมมีดยาวประมาณ7นิ้วแต่จำเลยแทงไม่แรงและบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่มืดจำเลยไม่สามารถเลือกแทงได้จำเลยจึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 466
จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับบริษัท ท. แล้วต่อมาจำเลยได้ทำสัญญาจะขายสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์และบริษัท ท. ได้โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่เนื้อที่ที่ดินขาดไปจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับบริษัทท. จำนวน 87 ตารางวา ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวบริษัทท. ตกลงว่าให้คิดราคาตารางวาละ 4,000 บาท และ ท. ได้คืนเงินค่าที่ดินที่ขาดให้แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาจากจำเลยก็ต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับบริษัท ท.ด้วยเมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินที่ขาดไปแล้วก็จะมาเรียกเอาเงินค่าที่ดินที่ขาดจากจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ขายที่ดินให้โจทก์อีกไม่ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 466
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 33, 39
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475มาตรา33เป็นบทบัญญัติถึงวิธีการที่โจทก์จะขอลดภาษีต่อกรุงเทพมหานครจำเลยที่1ไว้มิใช่บทบัญญัติถึงขั้นตอนในการที่ศาลจะมีอำนาจพิจารณาค่ารายปีที่พิพาทดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าค่าเช่าที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำมากำหนดเป็นค่ารายปีนั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆศาลก็มีอำนาจกำหนดค่ารายปีให้เท่าจำนวนที่สมควรจะให้เช่าได้การที่ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่ามีเหตุสมควรลดค่ารายปีและคืนภาษีที่โจทก์ชำระเกินมาให้โจทก์นั้นเป็นการพิพากษาลดค่าภาษีให้โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475มาตรา39วรรคสองตามที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณา การที่ศาลภาษีอากรกลางให้จำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่9พฤศจิกายน2536ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่พนักงานของจำเลยที่1ประเมินไปชำระนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475มาตรา39วรรคสองเพราะเมื่อศาลให้ลดค่าภาษีต้องคืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายใน3เดือนหากไม่คืนในกำหนดดังกล่าวโจทก์จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
คดีนี้โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา390และศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าในความผิดดังกล่าวให้รอการลงโทษจำคุกไว้และให้ลงโทษปรับจำเลยด้วยโจทก์ร่วมฎีกาว่าเหตุรถชนกันมิใช่เพราะโจทก์ร่วมและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วและต่างขับล้ำเข้าไปในช่องทางของอีกฝ่ายหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาแต่เป็นเพราะจำเลยขับรถด้วยความเร็วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ร่วมแต่เพียงฝ่ายเดียวดังนี้แม้การพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นของศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จะฟังข้อเท็จจริงว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งแต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยซึ่งโจทก์ร่วมมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์การวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 882, 887 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 ทวิ,
โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่ชนรถยนต์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ไปแล้วนั้นเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ2ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882เหตุวินาศภัยเกิดเมื่อวันที่2มีนาคม2534โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่1มีนาคม2536คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา223ทวิเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วจำเลยจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง200บาทตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง1ข้อ2(ก)เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมาจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 296 วรรคสอง
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับศ.จำเลยในคดีแพ่งเรื่องอื่นออกขายทอดตลาดโจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแต่โจทก์มิได้ยื่นคำขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดภายในกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสองโจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้อีกต่อไปดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำฟ้องคดีนี้ว่าบ.เข้าประมูลซื้อทรัพย์พิพาทในคดีแพ่งเรื่องอื่นดังกล่าวในนามของตนเองโดยไม่ได้รับมอบฉันทะจากจำเลยก็หาทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้ไม่การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม, 226
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้เดินผ่านทางพิพาทในที่ดินของจำเลย เกินกว่า 10 ปี จนได้ภารจำยอม จำเลยทำรั้วปิดกั้นขอให้จำเลยรื้อรั้วและจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่โจทก์แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยโดยโจทก์แกล้งฟ้องจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ดังนี้คำฟ้องแย้งของจำเลยศาลจะบังคับตามคำขอได้ก็ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีแล้ว จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอจะรวมการพิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย คำร้องของจำเลยที่ขอให้เรียก ป. เข้ามาเป็นคู่ความร่วมโดยจำเลยขอใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ ป.ไม่ใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5)การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เรียกป.เข้ามาเป็นคู่ความไม่ใช่คำสั่งเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความและไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226(1)