คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 143
เมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อำนาจในการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำพิพากษาจึงอยู่แก่ศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้น และไม่ใช่กรณีที่ต้องอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 หาได้จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการขีดเขียนหรือถ้อยคำเท่านั้นไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจำนวน 239,195.80 บาทแก่โจทก์ด้วย แต่เมื่อพิพากษามิได้นำดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เพราะไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 702, 732 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (3), 21, 144, 148, 287, 289, 1 (1), 1 (ค)
คำร้องของผู้ร้องฉบับก่อนเป็นการร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจของเจ้าหนี้จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ส่วนคำร้องของผู้ร้องฉบับหลังเป็นการร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตามป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลภายนอกไว้ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุตามบทกฎหมายคนละเหตุคนละมาตราเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือร้องซ้ำ คำร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287ไม่ใช่คำฟ้องตามมาตรา 1(3) ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล คงเสียแต่ค่าคำร้องเหมือนคำร้องธรรมดา และการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรืออนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาดมิได้ขัดแย้งกัน ไม่ได้ทำให้คำร้องนั้นเสียไป ตามคำร้องหมายความว่าหากเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ได้ จึงขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์จำนองตามป.วิ.พ. มาตรา 287 โดยเท้าความถึงคำร้องขอให้บังคับชำระหนี้จำนองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 289 ฉบับก่อน ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ จำเลย ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดี บุคคลดังกล่าวมีโอกาสคัดค้านคำร้องของผู้ร้องแล้ว ซึ่งตามคำคัดค้านของโจทก์นั้นก็มิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาจำนองว่าเป็นเงินเท่าใด และผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองนั้นหรือไม่ ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้อง คำคัดค้านของโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวนจึงเป็นการชอบแล้ว เพราะเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีได้ตามควรแก่กรณีแห่งเรื่องเพื่อให้คดี ดำเนินไปโดยรวดเร็วและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 วรรคสอง เป็นแต่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด แต่ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 287 ฉะนั้นเมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายโดยปลอดจำนองตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้ร้องและเมื่อขายทอดตลาดได้แล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 90
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคแรก มิได้ บังคับว่า สำเนาเอกสารที่ส่งให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้อง เป๋ย เอกสารที่ถ่ายจากต้นฉบับ สำเนาเอกสารที่ทนายโจทก์พิมพ์ ข้อความ ลง ในแบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งเป็นแบบพิมพ์อย่างเดียวกับ ต้นฉบับ สัญญากู้ และ มีข้อความเช่นเดียวกัน โดยทนายโจทก์ลงชื่อ รับรองสำเนาถูกต้อง ถือเป็นสำเนา เอกสารตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 36, 43, 51, 148, 157
ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์แซงรถจักรยานยนต์ของโจทก์ตามทางด้านขวาเมื่อถึงซอยเข้าบ้านจำเลย จำเลยได้ขับเลี้ยวซ้ายเข้าซอยซึ่งมีระดับต่ำกว่าถนน ต้องลดความเร็วที่เกิดเหตุมีรอยห้ามล้อรถยนต์จำเลยยาวไม่ถึง 1 เมตร แสดงว่าจำเลยไม่ได้ขับเร็วขณะนั้นเองฝ่ายโจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์ซึ่งปกติมีความคล่องตัวกว่ารถยนต์มากแซงซ้ายชนรถยนต์ของจำเลยแล้วโจทก์ร่วมกระเด็นข้ามกระโปรงรถยนต์ของจำเลยไปตกที่บริเวณท่อระบายน้ำข้างถนน และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมแฉลบไปชนรั้วบ้าน แสดงว่าโจทก์ร่วมเองเป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วและแซงซ้ายมือโดยไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดเฉี่ยวชนกันได้พฤติการณ์ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาท.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448 วรรคแรก, 880, 882 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46 วรรคสอง, 172, 249
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่มีการตกเติมข้อความโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับดังที่จำเลยอ้าง เพราะไม่มีการตกเติมแต่ประการใด การเขียนด้วยปากกาหรือน้ำหมึกลงในช่องว่างที่เว้นไว้เพื่อระบุชื่อคนที่ถูกต้อง ไม่ต้องด้วยความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46วรรคสอง จำเลยมิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์แฉลบล้ำเข้าไปชนรถยนต์ฝ่ายโจทก์ในทางเดินรถของฝ่ายโจทก์ แต่กลับนำสืบว่ารถยนต์ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายวิ่งเข้ามาในทางเดินรถของฝ่ายจำเลยและชนกันเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างกับคำฟ้องแต่กลับหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ทั้งที่ในศาลชั้นต้นจำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่ารถยนต์บรรทุกส่วนใดไปชนถูกส่วนใดของรถยนต์เก๋ง และเสียค่าซ่อมรถยนต์เก๋งส่วนใดเป็นจำนวนเท่าใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ป.พ.พ. มาตรา 880 บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใด ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิก็ย่อมจะมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน ซึ่งผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดได้ภายในหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด และมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ภายในสองปีนับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคแรก และมาตรา 882 วรรคแรก ตามลำดับ แม้เกิดเหตุรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2525 แต่ได้ความว่าเกิดเหตุแล้วคนขับรถยนต์บรรทุกหลบหนีหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือนพนักงานสอบสวนจึงทราบจากนายทะเบียนยานพาหนะว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นของใคร จึงได้ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาสอบปากคำ จึงถือได้ว่าผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2ประมาณวันที่ 2 ตุลาคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526จึงไม่ขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2134/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288
จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้เสียหายบริเวณชายโครงซ้ายผู้เสียหายเอี้ยวตัวหลบจำเลยจึงแทงถูกแขนผู้เสียหาย เหล็กขูดชาฟท์ติดอยู่ที่แขนผู้เสียหาย ตัวเหล็กขูดชาฟท์ยาวประมาณ 6 นิ้ว ด้ามยาวประมาณ 5 นิ้ว บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกจำเลยแทงยาว 2.5 เซนติเมตรกว้าง 1 เซนติเมตรลึกถึงอีกด้านหนึ่ง แสดงว่าจำเลยแทงผู้เสียหายอย่างแรง เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยยังถือไม้ท่อนกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว วิ่งตามไปจะตีผู้เสียหายอีก แสดงเจตนาของจำเลยว่าหากเหล็กขูดชาฟท์ไม่ติดอยู่ที่แขนผู้เสียหายจำเลยคงจะแทงผู้เสียหายอีกอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาอาวุธที่จำเลยใช้ ลักษณะการแทง และบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ ซึ่งหากผู้เสียหายไม่เอี้ยวตัวหลบและวิ่งหนีไปเสียก่อนจำเลยคงทำร้ายผู้เสียหายจนถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 226, 227, 232, 233 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 72
ในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและได้ความจากพนักงานสอบสวนว่า ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และสอบถามจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างแต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านเจือสมว่า จำเลยไม่เคยมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จึงถือว่าโจทก์ได้นำสืบถึงข้อหานี้แล้วและแม้ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางยืนยัน พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวก็เพียงพอฟังลงโทษจำเลยฐานนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า อาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคสาม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 71 (2)
พระราชบัญญัติ ญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71(2) บัญญัติว่า ถ้ามาถึงทางแยกทางร่วมพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน แต่แม้จะมีกฎหมายดังกล่าวซึ่งทำให้คนขับรถของจำเลยมีสิทธิขับรถผ่านสี่แยกไปก่อนได้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนขับรถของจำเลยมีสิทธิขับรถเข้าไปในสี่แยกโดยไม่คำนึงหรือไม่ระมัดระวังหรือไม่ดูว่ามียานพาหนะอื่นแล่นเข้ามาในสี่แยกหรือไม่ ที่เกิดเหตุเป็นสี่แยกมีทางเดินรถหลายช่องทางผู้ขับขี่ยวดยานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าการขับไปตามถนนอย่างธรรมดา เมื่อพิจารณาภาพถ่ายความเสียหายเห็นได้ว่ารถยนต์ชนกันอย่างแรง ซึ่งก็ต้องเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงของคนขับรถของจำเลยนั้นเองด้วย การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความประมาท บทบัญญัติดังกล่าวมิได้คุ้มครองให้คนขับรถของจำเลยพ้นผิด แม้คนงานของโจทก์จะมีเงินเดือนประจำและมีงานทำเป็นปกติแต่เมื่อต้องทิ้งงานดังกล่าว มาทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลย โจทก์ก็ย่อมเรียกค่าแรงในการทำงานดังกล่าวได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 60 วรรคสอง, 86 วรรคสอง ประมวลรัษฎากร ม. 118 บัญชี อัตรา อากรแสตมป์ ข้อ 7 ( ข ) บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร
หนังสือมอบอำนาจให้ ป. และ ท. ฟ้องคดีและกระทำการอย่างอื่นอีกหลายประการแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ฉบับละ 30 บาท โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวหรือหลายคน หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสองมิได้ห้ามผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นทนายความอยู่แล้วตั้งตนเองเป็นทนายความดำเนินคดีนั้นอีก ที่ ท. และ ป. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตั้ง ท. เป็นทนายความว่าคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากหนึ่งไปถึง 4 นัดครั้งสุดท้ายจำเลยยื่นคำร้องระบุว่าหากไม่ได้ตัวพยานมาในนัดต่อไปจำเลยยอมให้ศาลตัดพยานได้ทันที ซึ่งทนายจำเลยก็แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันนั้นว่า หากนัดหน้าพยานไม่มาศาลไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยไม่ติดใจสืบ ศาลชั้นต้นก็ได้ให้โอกาสจำเลยเป็นครั้งสุดท้าย โดยเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าพยานติดคดีต้องเบิกความที่ศาลทั้งเช้า และบ่ายไม่อาจมาเบิกความที่ศาลในคดีนี้ได้ ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยเห็นว่าจำเลยมีโอกาสนำตัวพยานมาสืบได้ จำเลยขอเลื่อนคดีมีลักษณะประวิงคดี จึงชอบแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก หมายความว่าฟ้องแย้งจะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลจึงจะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณาได้ โจทก์ในฐานะนายจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเนื่องจากจำเลยทั้งสามปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและไม่มีความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา และฟ้องแย้งว่า โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยด้วยการตัดเงินเดือนภาคทัณฑ์ และทำทัณฑ์บนแก่จำเลยทั้งสามตามลำดับ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ทำให้ขาดรายได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามในคดีนี้ทำให้จำเลยต้องเสียเงินว่าจ้างทนายความมาต่อสู้คดี แม้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่าการสอบสวนและลงโทษทางวินัยต่อจำเลยทั้งสามเป็นการไม่ถูกต้องเพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาอันเป็นเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามในคดีนี้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้งส่วนที่เป็นค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน อันได้แก่ค่าขาดรายได้จากการไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างทนายความ ซึ่งปัญหาที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกลงโทษทางวินัยแล้วจะไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนในปีงบประมาณ 2534 จริงหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด เป็นข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังต้องพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยเฉพาะ จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องของโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามที่ฟ้องเรียกเงินค่าว่าจ้างทนายความมาว่าความในคดีนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมเช่นเดียวกัน.