คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 32, 137, 138, 143
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในช่วงเวลาที่มีการโอนขายรถยนต์พิพาทส.ป่วยมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ก็ปรากฏในคำขอโอนทะเบียนรถยนต์ว่า ส.ลงชื่อในช่องผู้โอนในเอกสารดังกล่าวโดยวิธีลงลายมือชื่อ แสดงว่าขณะที่ ส.โอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น ส.มิได้ขาดเจตนาในการทำนิติกรรมเสียเลย แต่การกระทำโดยมีเจตนาบกพร่อง เนื่องจากขณะนั้น ส.มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะที่เป็นญาติสนิทย่อมต้องทราบดี นิติกรรมโอนขายรถยนต์พิพาท จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ในฐานะทายาทย่อมมีสิทธิบอกล่างโมฆียกรรมดังกล่าว และการที่โจทก์ฟ้องคดี ถือได้ว่าเป็นการบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 แล้วนิติกรรมโอนขายรถยนต์พิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่แรก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ยางล้อหน้าด้านขวามือของรถยนต์ที่จำเลยขับอยู่ในสภาพเก่า และบรรยายว่าจำเลยขับรถลงเนินด้วยความเร็วสูงนั้น เป็นการบรรยายฟ้องประกอบข้อหาที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทฟ้องโจทก์ได้บรรยายพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แล้ว แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ายางล้อหน้าด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยขับมีสภาพยางเก่าอย่างไรฟ้องโจทก์ก็สมบูรณ์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177 วรรคสอง, 225 วรรคสอง
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ลอย ๆ เพียงว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ของโจทก์ เนื่องจากทำขึ้นโดยขัดต่อระเบียบข้อบังคับของโจทก์เป็นคำให้การที่ไม่แสดงให้แจ้งชัดถึงเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นว่านาย ห. ทำสัญญาแลกเช็คเป็นเงินสดตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนหรือกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ และปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะต้องวินิจฉัยให้ โจทก์มี น. เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ และโจทก์มอบอำนาจให้ น.ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้ง ฟังได้ว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมืออันแท้จริงของผู้มีอำนาจของโจทก์ตามหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้ น. ฟ้องคดีแทน น. จึงมีอำนาจฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 วรรคสอง
ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้นต้องคำนึงถึงราคาประเมินของทางราชการราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมิน และราคาซื้อขายในท้องตลาดประกอบกัน ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าราคาสูงสุดที่มีผู้ประเมินได้สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ยังต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการอยู่มาก ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288, 80
จำเลยใช้มีดปลายแหลมยาวประมาณ 1 คืบ แทงถูกผู้เสียหายทะลุหน้าท้องถึงตับทำให้ตับฉีกขาดยาว 2 เซนติเมตร ลึก 1 เซนติเมตรและทะลุอกด้านขวาถูกเนื้อปอดฉีกขาด ทำให้ลมรั่วเข้าช่องปอดเห็นได้ว่าจำเลยแทงผู้เสียหายอย่างแรงถูกอวัยวะสำคัญของร่างกายหลายแห่ง แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลให้การในชั้นสอบสวนว่าบาดแผลของผู้เสียหายดังกล่าวหากรักษาไม่ทันจะทำให้ถึงตาย ได้เนื่องจากโลหิตตก ในช่องท้องและลมรั่วเข้าช่องปอด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ตายจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 284 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคแรก
ความผิดฐานใช้อุบายหลอกลวงไปเพื่อการอนาจาร กับใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อการอนาจาร แม้เป็นความผิดในมาตราเดียวกันแต่ลักษณะของการกระทำต่างกัน องค์ประกอบในการกระทำความผิดจึงต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีได้บังอาจร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายฉุดลากพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร ดังนี้ โจทก์จะกลับขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้อุบายหลอกลวงเพื่อการอนาจารหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคแรก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2534
ประมวลรัษฎากร ม. 30 (2)
เมื่อโจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยผู้ต้องเสียภาษีทราบว่าต้องเป็นภาษีจำนวนเท่าใดแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินภาษีดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชำระค่าภาษีจำนวนดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้กำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) สิ้นสุดลงเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงไม่อาจจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นศาลอีกว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เสียก่อนที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิที่จะโต้เถียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 521, 525, 1361 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288
บ้านพิพาทเป็นของจำเลยกับ ช. ร่วมกัน แม้หลักฐานทางทะเบียนจะปรากฏชื่อ ช.เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวและช. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทให้ผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยโอนมาเป็นของผู้ร้องด้วย เพราะจำเลยมิได้แสดงเจตนายกให้ผู้ร้องทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นการที่ ช. จดทะเบียนยกบ้านพิพาทให้ผู้ร้อง จะถือว่าจำเลยยอมให้กรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยโอนไปเป็นของผู้ร้องด้วยไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยบ้านพิพาท.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 185 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินโบนัส จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินโบนัสของโจทก์ทั้งสองตามมติคณะรัฐมนตรีประเด็นข้อพิพาทมีว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินโบนัสของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินโบนัสของโจทก์ทั้งสองตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 4.1.1 หาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ ตลอดระยะเวลาที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสองลาไปประชุมสัมมนาฝึกอบรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลย ณ ต่างประเทศโดยไม่ถือเป็นวันลานั้น โจทก์ทั้งสองหาได้อยู่ปฏิบัติงานจริง ๆไม่ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นพนักงานที่ปฏิบัติไม่เต็มงวดการปิดบัญชีของธนาคารที่มีการจ่ายเงินโบนัส ชอบที่จะได้รับเงินโบนัสตามส่วนแห่งระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 (2)
การที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันเป็นเหตุให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยนั้น เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ย่อมมีความชอบธรรม ที่จะป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(2).