คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3305/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 109, 1310 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 243
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านที่รับซื้อฝาก ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งตามฟ้องซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่โจทก์รับซื้อฝากจากจำเลยโดยผู้ร้องสอดได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ปลูกสร้างในระหว่างสัญญาขายฝากยังไม่ครบกำหนดการไถ่คืนเป็นการปลูกสร้างโดยสุจริตโจทก์จะขับไล่ผู้ร้องสอดโดยไม่ใช้ค่าโรงเรือนไม่ได้ ขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ ขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องสอด หากจะขับไล่ผู้ร้องสอดออกจากที่ดินก็ให้โจทก์จ่ายค่าโรงเรือนดังกล่าวเป็นเงิน 50,000 บาท แก่ผู้ร้องสอด ดังนี้ หากความจริงเป็นดัง ที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างในคำร้อง บ้านเลขที่ ดังกล่าวย่อมไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์อาจต้องใช้ค่าแห่งที่ดิน ที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้ร้องสอด หรือผู้ร้องสอดอาจมีสิทธิรื้อถอนโรงเรือนนั้นไปก็ได้จึงเป็นการ จำเป็นที่ผู้ร้องสอดต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อ ยังให้ได้รับ ความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ชอบที่ศาลชั้นต้น จะ อนุญาตอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านทั้ง 5 หลังตามฟ้องแล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ดังนั้น หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งหมด ก็จะทำให้คดีดังกล่าวข้างต้นต้องล่าช้าไปไม่เป็นประโยชน์แก่คู่กรณี ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3342/2534
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 89 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 225
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ แต่ไม้และอุปกรณ์ทำไม้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นมากเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรลดลงให้เหมาะสมแก่รูปคดีแม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ฎีกา แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2534
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 45, 61, 146
จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มาก็ไม่เกิดสิทธิอุทธรณ์ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 บัญญัติว่าเมื่อเจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงเป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะงดพิพากษาหรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 2และขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลเพื่อพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีก ทั้ง ๆ ที่เป็นการพ้นขั้นตอนและพ้นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 45 แล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 169, 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ไปในทางการที่จ้าง โดยขับรถด้วยความประมาททำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย การบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อายุความฟ้องร้องจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารคันที่จำเลยขับ และค่าซ่อมกำแพงอู่รถของโจทก์ซึ่งเกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มตั้งแต่นั้น มิใช่นับเริ่มแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าซ่อมรถยนต์โดยสารและกำแพงอู่รถของโจทก์ที่เสียหายให้บริษัทผู้รับจ้างซ่อม ค่าซ่อมเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและค่าซ่อมรถของบุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกสองรายและโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกสองรายไม่พร้อมกัน อายุความฟ้องร้องซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 ย่อมเริ่มต้นนับไม่พร้อมกัน โดยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้เงินแก่บุคคลภายนอกไปอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ภายในกำหนดอายุความ จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วเริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันนั้น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 1068 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 ประมวลรัษฎากร ม. 19, 21, 27 วรรคสาม, 65 ตรี
ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรและแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรคือจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว แม้มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทราบ ก็เป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อหนี้ที่ให้รับผิดเป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 ออกจากหุ้นส่วนไปยังไม่เกินสองปีโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน กับมีรายจ่ายต้องห้ามจึงมีอำนาจปรับปรุงรายการใหม่ให้ถูกต้อง และแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีและเบี้ยปรับได้ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ระบุว่ารายจ่ายทั้ง 5 รายการนั้นต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี อนุมาตราใดก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องระบุตัวบทกฎหมายตลอดจนมาตราและอนุมาตราไว้ด้วย แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 จะบัญญัติห้ามอุทธรณ์การประเมินในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่ในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องเสียภาษี จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกประเมินด้วยจึงต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบได้ การคำนวณเงินเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคสามบัญญัติห้ามมิให้คำนวณเกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 538 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 4, 46
โจทก์ทำนาพิพาทในฐานะผู้เช่าจากจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือก็ต้องถือว่าเป็นการเช่าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2528 มาตรา 5ที่บัญญัติว่า "การเช่า" หมายความว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า… ทั้งนี้ไม่ว่าการเช่าหรือการเช่าช่วงนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2534
ประมวลรัษฎากร ม. 65 ตรี (9)
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่เป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันจักต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2534
พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504 ม. 53, 56
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าทำนา นาย ป. บิดาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1ตกลงจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพียงแต่ตกลงกันให้โจทก์ไปตกลงกับจำเลยที่ 2 เอง ต่อมาจำเลยที่ 2ขออายัดที่ดินพิพาท และคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลมีมติให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทไว้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์เป็นการขอให้แก้ไขหรือยกเลิกมติของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำ ตำบล ก่อนที่จะมีการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 56เป็นการข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และการที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ยังเป็นการขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53วรรคหนึ่ง ที่ต้องแจ้งให้ผู้เช่านาทราบถึงการจะขายนาและให้ผู้เช่านาได้แสดงความจำนงจะซื้อนาก่อนอีกด้วย และเมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จะซื้อที่ดินพิพาทยังมิใช่เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายและขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทนั้น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3251/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 222, 224, 850 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223, 229
โจทก์จำเลยแถลงในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาโกงเจ้าหนี้และเบิกความเท็จ และศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้ จ. จำนวน 100,000 บาท และโจทก์ยอมถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแลกกับการที่จำเลยงดเว้นใช้สิทธิอุทธรณ์ในคดีแพ่ง ที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล จำเลยตกลงโดย ทนายโจทก์และจำเลยลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถือว่าข้อตกลง ดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและมีผลผูกพันกัน เมื่อโจทก์ ถอนฟ้องคดีอาญาแล้ว จำเลยกลับยื่นอุทธรณ์ในคดีแพ่งดังกล่าวจำเลย จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีแพ่งฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยผิดสัญญา จำเลยต้องรับผิดค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความชั้นฎีกา แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยจะยังไม่ได้ยื่นฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าว แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นฎีกาและโจทก์ได้แก้ฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาก็พิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้จ่ายของโจทก์ในชั้นฎีกาได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์จ่ายเงินจำนวนนี้เมื่อใด จึงให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าใช้จ่ายชั้นฎีกานับแต่วันอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3245/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 650
การที่จำเลยตกลงกับโจทก์ว่าจะดำเนินการให้บุตรโจทก์ได้เข้าทำงานที่การไฟฟ้าวัดเลียบโดยคิดค่าบริการจากโจทก์ ถ้าไม่ได้จะคืนเงินทั้งหมดให้โจทก์ โจทก์จึงมอบเงินให้จำเลยไปก่อนส่วนหนึ่งแต่ต่อมาจำเลยไม่สามารถดำเนินการให้บุตรโจทก์เข้าทำงานได้ครั้นโจทก์ทวงถามเงินคืน จำเลยก็ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวนที่รับไปนั้นให้โจทก์ไว้ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินจำเลยไปเพื่อให้จำเลยดำเนินการในทางไม่ชอบหรือนำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปดำเนินการในทางไม่ชอบเพื่อให้บุตรโจทก์ได้เข้าทำงาน สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้นั้น