คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 245 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง
จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยโดยมิได้ลดโทษให้ จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ คงเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ลดโทษให้จำเลยเมื่อศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 และพิพากษายืน จำเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้อีกไม่ได้ เพราะความผิดฐานนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 245 แล้วทั้งยังขัดต่อคำรับสารภาพของจำเลย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้เฮโรอีนของกลางมีปริมาณมาก แต่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมทำให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปโดยสะดวกนับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ถือได้ว่ามีเหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย ความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นมิได้ระบุวรรคในตัวบทมาตราที่ใช้ปรับบทลงโทษและศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 65, 78 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 ม. 30 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 10 ทวิ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่?35) พ.ศ.2521 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ม. ,
สินค้าในพิกัดประเภทที่ 84.15 เป็นสินค้าประเภทที่ใช้เพื่อความสะดวกสบายหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอัตราอากรจึงได้กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 80 ส่วนสินค้าในพิกัดประเภทที่ 84.17 นั้น เป็นสินค้าที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการผลิตหรือเป็นสินค้าประเภทที่นำมาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตผลงานอย่างอื่น จึงได้กำหนดพิกัดอัตราอากรไว้ต่ำลงมาเพียงร้อยละ 30 คำว่า"เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ" ในพิกัดประเภทที่ 84.15ข. จึงหมายถึงเครื่องปรับอากาศหรือส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศที่ใช้เพื่อความสะดวกสบาย ส่วนคำว่า"ที่ใช้กับเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ" ในพิกัดประเภทที่84.17ก. นั้น หมายถึงเครื่องที่จะระบายความร้อนให้กับเครื่องจักรขณะที่เครื่องจักรทำงาน ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรสินค้าคอนเดนเซอร์ที่โจทก์นำเข้ามา เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ อันเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดให้ความสะดวกสบายและไม่อาจใช้ผลิตหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าอื่นอันจะถือเป็นเครื่องจักรได้ จึงเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัดที่ 84.15ข. จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529แล้ว ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีพิพาท เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนในปีภาษี พ.ศ. 2527 และมิใช่ภาษีอากรในประเภทที่มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 30 ใช้บังคับจำเลยที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4762/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237
จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และโจทก์มีสิทธิในตึกแถวพิพาท โดยจำเลยที่ 1 นำสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทไปให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้การที่จำเลยที่ 3 ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้วได้ไปทำการจดทะเบียนยกเลิกสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงโดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอมนั้น พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสี่กระทำลงไปในนั้นได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4901/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 448
จำเลยจัดสรรที่ดินและขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยตัดถนนใหม่ผ่านที่ดินของโจทก์ ภายหลังจากออกโฉนดที่ดินพิพาทและโอนให้โจทก์แล้ว โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยจึงไม่มีสิทธิให้ประชาชนใช้สัญจรผ่านที่ดินของโจทก์และยกถนนดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยให้ประชาชนใช้สัญจรผ่านที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการตัดถนนผ่านเข้าไปในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยและสมาชิก และได้ใช้ถนนดังกล่าวเป็นทางสัญจรจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องกันตลอดมา แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีนับแต่ถนนพิพาทสร้างเสร็จและใช้สัญจรได้ คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ จำเลยตัดถนนผ่านที่ดินของโจทก์ในลักษณะทะแยงมุม ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูด้านหนึ่งเรียว เกือบเป็นรูปชายธง เนื้อที่แต่ละส่วนเหลือเพียงร้อยตารางวาเศษ ที่ดินของโจทก์จึงเสียหายเต็มทั้งแปลง เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแนวถนนจากผังที่วางไว้ จำเลยย่อมรู้ดีว่าแนวถนนที่ตัดใหม่จะต้องผ่านที่ดินโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 22, 296 จัตวา
การพิจารณาคำร้องของผู้ร้องว่าที่ดินและบ้านเรือนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกไปนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย ขอให้ระงับการบังคับคดีไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำการไต่สวนก่อน ที่ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมให้ผู้ร้อง โจทก์ จำเลยมาศาลก็เพื่อทำการพิจารณาสั่งคำร้องของผู้ร้อง และในวันนัดพร้อม หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องไม่สมควรอนุญาตตามคำร้องก็อาจยกคำร้องเสียได้ ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์แล้วว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้อง จึงยกคำร้อง มิได้สั่งยกคำร้องเพราะเหตุผู้ร้องไม่มาศาล.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 428, 587, 1367, 1374 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทที่มีผนังตึกร่วมกันแม้ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความจะไม่ปรากฏชัดว่าผนังตึกพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยึดถือและใช้สอยผนังตึกพิพาทร่วมกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองผนังตึกพิพาทร่วมกัน เมื่อโจทก์ ถูกกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผนังตึกแตกร้าว เสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมอาคารชั้นสามโดยจำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ทำให้สำเร็จตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการจ้างทำของ ดังนั้นการงานที่จำเลยที่ 2และลูกจ้างได้กระทำไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำเกิดไปละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดเองจะให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยไม่ได้ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังในการเลือกหาผู้รับจ้างที่ดี เพียงแต่เลือกเอาผู้รับเหมาก่อสร้างธรรมดาที่ไม่มีความรู้ไม่มีเครื่องมือที่ดี จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อในการหาผู้รับจ้าง แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ม. 7 (3) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
ฟ้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีสัญชาติไทย ถูกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติและพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสี่ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ และปฏิเสธไม่รับคำร้องขอของโจทก์ที่ 2ที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์ที่ 1 เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่เกิดมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 1 จึงย่อมเป็นผู้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดในราชอาณาจักรไทย ส่วนมารดาคือโจทก์ที่ 1 ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(3) เมื่อขณะที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกิดนั้นโจทก์ที่ 1 ยังมีสัญชาติไทย มิใช่คนต่างด้าว โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงหาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4886/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ม. 6, 11, 35
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ มีเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่มิได้ผ่านการตรวจพิจารณาและให้ความเห็นชอบของเจ้าพนักงานผู้ตรวจไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนเป็นความผิด เทปและวัสดุโทรทัศน์จึงเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดและต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 32.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 149, 254, 261, ตาราง 5
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมวด 3 ค่าฤชาธรรมเนียมมาตรา 149 วรรคแรกนั้น บัญญัติว่า ค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ให้คู่ความผู้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ เป็นผู้ชำระ เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินที่กรมทรัพยากรธรณีต้องชำระให้แก่จำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามมาตรานี้แล้ว เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกอายัดชั่วคราวตามคำร้องขอของจำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดหรืออายัดเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 ข้อ 4 ท้ายประมวลกฎหมายดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 39, 51, 52 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้วมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การที่จำเลยกลับมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งที่จะไม่จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพิกถอนคำสั่งเรื่องไล่ออกจากงานของจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเรื่องไล่ออกจากงานหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่โจทก์หรือไม่ เช่นนี้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่กระทำต่อโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นใบลาออก จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ ถือว่าเป็นการลดตำแหน่งและจำเลยไม่พิจารณาขึ้นเงินเดือนกับจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์โดยไม่เคยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดหรือตั้งกรรมการสอบสวนความผิดเมื่อถึงกำหนดใบลาออก โจทก์มิได้ไปทำงานจำเลยมิได้ไล่โจทก์ออกจากงานในเวลาที่สมควรนั้น เพื่อให้เห็นว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อันจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ จึงเป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทโดยตรง มิใช่นอกฟ้องนอกประเด็น.