คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (8), 169 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีของลูกจ้างต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 29 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่จะมีขึ้นเมื่อมีการเลิกจ้าง การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างนำค่าครองชีพมารวมจ่ายเป็นค่าจ้างอัตราใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 เป็นต้นมา ไม่ได้ทำให้ลูกจ้างซึ่งเข้าทำงานก่อนวันดังกล่าวและยอมรับการกระทำเช่นนั้นของจำเลยต้องเสียสิทธิที่มีอยู่เดิม ส่วนลูกจ้างที่เข้าทำงานหลังวันดังกล่าวก็จะได้รับค่าจ้างในอัตราที่รวมค่าครองชีพเข้าด้วยแล้ว การนำค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5084/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 30, 82
ผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยสามารถส่งคนไปทำงานในประเทศคูเวตได้โดยเรียกค่าบริการคนละ 30,000 บาท ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ความจริงจำเลยไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศได้แต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยพูดหลอกลวงนั้นมีคนอื่นอีก 8 คนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปอยู่ในบ้านซึ่งจำเลยเช่าให้คนหางานพักอาศัยอยู่ประมาณ 30-40 คน พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปจำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศหรือได้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาบ้างแล้วประกอบกับทางพิจารณารับฟังได้ว่าจำเลยมิได้เจตนาจัดหางานให้แก่คนหางานแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30,82.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219
ข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุกคนละ 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับคนละ 60 บาท จึงเป็นการแก้ไขมาก แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานั้น อีกทั้งมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219จึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5082/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 206, 420, 422, 442, 880 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
จ.ขับรถอยู่ในทางเดินรถ เห็นชามกะละมังหล่น ขวางทางอยู่จึงชะลอความเร็วและหยุดรถเพื่อไม่ให้ชนชามกะละมัง จำเลยขับรถแล่นตามหลังมาชนท้ายรถของ จ. เช่นนี้ ถือไม่ได้ว่า จ. มีส่วนประมาทร่วมด้วย และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะผู้ที่ขับรถตามหลังรถคันอื่นมีหน้าที่ต้องระมัดระวังไม่ให้รถแล่นไปชนท้ายรถคันที่แล่นอยู่ข้างหน้า โดยต้องทิ้งระยะให้ห่างพอสมควรที่จะชะลอความเร็ว หรือหยุดรถได้ทันท่วงทีเมื่อรถคันหน้าได้ชะลอความเร็วหรือต้องหยุดรถไม่ว่ากรณีใด ๆ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยและรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิดโจทก์ชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น หามีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดไม่ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5079/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76, 420, 425
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำของจำเลยที่ 2 รดน้ำต้นไม้ ได้ขับรถไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ เสร็จแล้วได้ขับรถไปบ้านของตนแม้จะเป็นธุระส่วนตัวไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และที่เกิดเหตุมิใช่พื้นที่ที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบดำเนินการก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบ้านของตนก็ดี และตอนขับกลับก็ดี เป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างทางที่ขับรถกลับดังนี้ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350
เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ. ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมโดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไปโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ. กับ จ. จึงถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริงเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5072/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350
เมื่อโคที่โจทก์นำยึดมีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา แม้น้องของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลฟังว่าโคที่ถูกยึดเป็นของน้องของจำเลยที่ 1 โคจึงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และมีราคาพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นราคาเท่าไรก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352
สัญญาการเลี้ยงไก่ ระบุราคาลูกไก่ อาหารไก่ไว้แน่นอน เมื่อไก่เจริญเติบโตแล้วโจทก์ร่วมจะมาจับไปฆ่าโดยตีราคาไก่ตามน้ำหนักซึ่งเมื่อได้ยอดเงินเท่าใดก็จะเอายอดเงินค่าลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีน ไก่มาหักออก หากเหลือเงินก็จะมอบให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยแต่ถ้าเงินไม่พอจำเลยจะต้องชำระค่าลูกไก่ อาหารไก่ และวัคซีน ไก่ที่ค้างอยู่ทั้งหมด จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมให้จำเลยซื้อลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีน ไก่ด้วยเงินเชื่อโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อไก่เจริญเติบโตแล้วจะต้องนำมาขายให้โจทก์ร่วมเมื่อโจทก์ร่วมส่งมอบลูกไก่ให้จำเลยกรรมสิทธิ์ในลูกไก่ย่อมตกเป็นของจำเลยทันที จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5039/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 205, 210, 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 161, 168, 287, 306
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามยอมให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความแทนที่จำเลยในอีกคดีหนึ่ง โอนขายที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์คดีนั้น ทำให้การโอนที่ดินพิพาทไม่อาจกระทำได้ การที่ผู้ร้องไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อศาลได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้วผู้ร้องจึงมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์จะบังคับคดียึดที่ดินพิพาทให้กระทบกระทั่งสิทธิของผู้ร้องอันอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 กรณียื่นคำร้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287ถือได้ว่าเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ไต่สวนคำร้องต่อไปและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่สั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เกินอัตราขั้นสูงในคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5024/2533
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2517
โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อประจำสาขาจังหวัดชุมพรเมื่อผู้จัดการสาขาชุมพร อนุญาตให้พนักงานธนาคารฝึกซ้อมกีฬาโดยถือเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร และตามระเบียบของธนาคารฉบับที่ 21ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารยังกำหนดว่าการฝึกซ้อมกีฬาและการแข่งขันกีฬาให้ถือเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร โจทก์ประสบอันตรายขณะฝึกซ้อมกีฬา จึงถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ การกำหนดประเภทกิจการของนายจ้างก็เพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่20 พฤศจิกายน 2517 เท่านั้น หาใช่เป็นการจำกัดว่าลูกจ้างจะต้องประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามประเภทของกิจการของนายจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไม่ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้พอให้เข้าใจแล้วว่า ค่าพาหนะเดินทางจากโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ไปโรงพยาบาลมิชชั่นที่โจทก์ต้องเสียไปคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาลและการอื่นที่จำเป็นอันเป็นค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าค่าพาหนะตามที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ไม่ต้องใช้รถพยาบาล ค่าพาหนะตามคำฟ้องจึงเป็นค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินทดแทนที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะต้องจ่ายให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าพาหนะจากการว่าจ้างรถพยาบาลเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท.