คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5116/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 (1)
สาระสำคัญของความผิดฐานออกเช็คตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(2) นั้น ถือว่าวันที่ออกเช็คเป็นวันที่ผู้ออกเช็คมีเจตนากระทำผิดและความผิดสำเร็จครบองค์ประกอบความผิดในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์นำสืบแต่เพียงวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้นซึ่งเป็นวันหลังออกเช็คหลายเดือน โดยธนาคารให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร เนื่องจากขณะนั้นจำเลยเป็นหนี้ธนาคารอยู่เต็มวงเงินเบิกเกินบัญชี มิได้นำสืบว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอจะใช้เงินได้ตามเช็ค และหรือหากผู้เสียหายนำเช็คตามฟ้องไปเบิกเงินธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5064/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 850, 852 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรชายและเป็นลูกจ้างผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ขับชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ผู้แทนเจ้าของรถยนต์บรรทุกยินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของโจทก์ พนักงานสอบสวนได้บันทึกข้อตกลง และให้โจทก์จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีบันทึกดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นผลทำให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไปทำให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จะมาฟ้องจำเลยที่ 2ในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่ ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 2ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5115/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 58 พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ.2530 ม. 4
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. 2530มาตรา 4 หมายถึงผู้ที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 ซึ่งได้รับโทษและพ้นโทษไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 แต่ศาลก็ได้รอการลงโทษไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้รับโทษและพ้นโทษแล้ว ไม่เข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยได้มากระทำผิดในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลให้รอการลงโทษไว้ จึงต้องนำโทษในคดีก่อนมาบวกกับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5107/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 วรรคสอง, 288, 295
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยใช้ขวานฟันและเหล็กแหลมแทง แม้ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลที่หน้าผาก อกด้านซ้ายและคอด้านซ้ายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย แต่บาดแผลไม่ร้ายแรงไม่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ฟันและแทงโดยแรง เมื่อขวานหลุดจากมือกระเด็นไป แล้วผู้เสียหายร้องให้คนช่วยจำเลยทั้งสองก็วิ่งหนีไปทั้ง ๆ ที่ขณะที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ จำเลยที่ 1 มีโอกาสวิ่งกลับไปเอาขวานมาฟันและจำเลยที่ 2 มีเวลาที่จะแทงผู้เสียหายให้ถึงตายได้ แต่จำเลยทั้งสองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ สาเหตุที่จำเลยทั้งสองกับผู้เสียหายโกรธเคืองกันก็เป็นเรื่องเล็กน้อย แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5061/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8 (3), 31 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 21, 22
การที่บริษัทนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งเป็นสหภาพแรงงาน แล้วผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องและไม่ยอมเจรจานั้นถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น เมื่อบริษัทนายจ้างได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานอันเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 21 แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวและดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกันต่อไปตามมาตรา 22 หากไม่อาจตกลงกันได้บริษัทนายจ้างและผู้ร้องชอบที่จะดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคท้าย ต่อไป จะใช้สิทธิทางศาลขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ เพราะตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาได้มีบทบัญญัติให้บุคคลใช้สิทธิทางศาลสำหรับกรณีนี้แต่ประการใดไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5110/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 ประมวลรัษฎากร ม. 29, 30 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 78, 17
จำเลยที่ 1 รับแจ้งการประเมินแล้ว ไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ย่อมถึงที่สุด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องและเมื่อการประเมินถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีปัญหาว่ายอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมินภาษีชอบหรือไม่ ทั้งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 177 วรรคสอง, 183
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำปลอมหนังสือมอบอำนาจว่าผู้ตายให้จำเลยโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนังสือมอบอำนาจของผู้ตายเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องแท้จริงอันมีเหตุอยู่ในตัวแล้วว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอมและได้ให้การไว้ในตอนต้นถึงเหตุที่ผู้ตายโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพราะเดิมผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนบิดาและจำเลยคำให้การของจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้แล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่แท้จริงได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2533
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 31, 65
การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้นจะลงโทษปรับเป็นรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง ได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวตามมาตรา 42แล้วแต่เจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตาม หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมิได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติตามแล้ว ก็ไม่อาจลงโทษปรับรายวันตามมาตรา 65 วรรคสองได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5104/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 207 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 25
ก่อนจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) การที่จำเลยยื่นขอให้พิจารณาใหม่เป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิดำเนินการเอง เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนที่ศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนตามมาตรา 25 ได้ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้ยื่นขอพิจารณาใหม่ไว้ก่อน แล้วถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในภายหลัง เมื่อจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติ มาตรา 25ที่ศาลจะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาว่าคดีแทน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86, 335
จำเลยที่ 2 เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไปซักผ้าที่บ่อน้ำหน้าบ้านของโจทก์ร่วมด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1แยกตัวไปก่อน แล้วจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปชวน ส. มารดาของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่เฝ้าบ้านให้ออกไปเก็บใบพลู ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของโจทก์ร่วมได้โดยสะดวกและหลังจากมีเสียงสุนัขเห่าซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมแล้ว ส. จะกลับ จำเลยที่ 2 ก็ได้ชวนคุยต่ออันถือได้ว่าเป็นการหน่วงเวลาไว้เพื่อให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1ซึ่งกำลังเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านโจทก์ร่วมกระทำผิดได้ต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1ทั้งก่อนและขณะเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86.