คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684 - 3685/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 349 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
จำเลยได้จำนำทรัพย์สินไว้แก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินที่จำนำไปจากสถานที่เก็บรักษาโดยอ้างว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของบุคคลอื่น ย่อมเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ เพราะเป็นการทำให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการจำนำลดจำนวนลงหรือหมดสิ้นไป จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2532
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 12
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพโจทก์ตามรายชื่อและลายมือชื่อที่ยินยอมให้หัก แล้วส่งให้ประธานหรือเหรัญญิกของโจทก์เพื่อเป็นค่าบำรุง ค่าฌาปนกิจ เป็นข้อตกลงอย่างอื่น ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 และมาตรา 12 ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตาม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 437 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 56, 172
สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินจะต้องต่อลงดินทุก ๆ ระยะ 200 เมตรและปลายสายจะต้องต่อลงดินด้วย เพื่อให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์จริง ๆกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุสายไฟฟ้าที่พาด เสา ไฟฟ้าทั้ง 22 ต้น เป็นระยะทางถึง 840 เมตรมีสายดินต่อลงดินเพียงแห่งเดียวคือที่เสาไฟฟ้าต้นที่ 22 จึงไม่ทำให้สายดินมีค่าเป็นศูนย์ กระแสไฟฟ้าย่อมไหลผ่านเข้าไปได้ การที่สายไฟฟ้าซึ่งเป็นสายดินพาด ระหว่างเสาไฟฟ้าต้นที่ 17 กับต้นที่ 18ปักอยู่ในสวนของผู้ตายได้ขาดตกลงมาในท้องร่อง ซึ่งมีน้ำขัง ผู้ตายไปเปิดน้ำเข้าสวนถูกกระแสไฟฟ้าดูดถึงแก่ความตาย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำการพาด สายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตร การที่จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะ จึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ยังฟ้องคดีเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องทั้งในนามตนเองและในนามบุตรทั้งสามโดยปริยาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2532
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8, 9, 10, 14
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยเป็นลูกค้ากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชีบางครั้งเป็นจำนวนถึง16,700,000 บาท แสดงว่าโจทก์เชื่อว่าจำเลยมีความสามารถในการประกอบธุรกิจหากำไรมาใช้หนี้โจทก์ได้ ทั้งบางครั้งจำเลยสามารถนำเงินเข้ามาหักบัญชีได้เป็นจำนวนถึง 4,900,000 บาท จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 จำเลยนำเงินเข้าหักบัญชีเป็นจำนวนถึง 4,453,159.05 บาท คงเหลือเงินที่เป็นหนี้ถึงวันฟ้องเพียง 761,028.32 บาท ซึ่งจำเลยเคยเป็นหนี้มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องหลายเท่า จำเลยยังสามารถชำระหนี้ได้และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นอีก ทั้งจำเลยก็ยังประกอบธุรกิจการค้าเหมือนเดิม แม้โจทก์จะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 8(9) ก็เป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้จึงยังไม่พอถือว่าจำเลยสมควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 339, 340 ตรี, 371 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 226, 227, 232, 233, 235 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ม. 6, 11, 42, 60, 64
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในความครอบครอง และพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีและพกพาอาวุธปืน ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดทั้งโจทก์ก็ไม่ได้อาวุธปืนที่จำเลยใช้ขู่ชิงทรัพย์เป็นของกลาง และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียน จึงลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้ไม่ได้ ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ ซึ่งข้อเท็จจริงได้จากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้เช่นกัน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83
จำเลยกับ ศ. มีอาวุธปืนชนิดร้ายแรงคนละกระบอกมิได้ร่วมกันไปกระทำความผิดอื่น เมื่อถูกเจ้าพนักงานล้อมจับต่างก็วิ่งหลบหนีเจ้าพนักงานเพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยต่างคนต่างไป แม้จะไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไปคนละทีและไปห่างกัน การที่ ศ. ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานที่เข้าจับกุมโดยจำเลยมิได้ใช้อาวุธปืนยิงด้วยจึงเป็นการกระทำเฉพาะตัวของ ศ. จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกับศ. กระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 291, 341, 344, 420, 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 177, 246, 247 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแล การปฏิบัติงานของพนักงานเงินพนักงานบัญชี ในการปิดบัญชีแต่ละวัน โจทก์มีหน้าที่ตรวจ นับเงินสดตรา ไปรษณียากร อากรแสตมป์ ตั๋วแลกเงินและวิมัยบัตร ให้ตรงกับยอดเงินคงเหลือในบัญชีเงินสดแต่ในช่วงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529ถึง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 โจทก์ตรวจ เฉพาะ บัญชีเงินสด ไม่ได้ตรวจ ตราไปรษณียากรคงเหลือแต่ละวัน ทะเบียนคุมเงินตราไปรษณียากรสมุด แรกรับตราไปรษณียากรและวิมัยบัตร เป็นเหตุให้ ส.พนักงานเงินทุจริตไปรษณียากรกับเงินฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุ ไปรษณีย์รายเดือน นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์จึงต้อง รับผิดต่อ จำเลยโดยตรงฐาน ผิดสัญญาจ้างแรงงานและฐาน กระทำ ละเมิดต่อ จำเลยโดย ร่วมรับผิดกับ ส. และ อ. พนักงานบัญชีอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากอายุเกิน 60ปีบริบูรณ์ ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินโบนัสจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ละเลยไม่ ปฏิบัติตาม ระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานเงินของจำเลยทุจริต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงขอใช้ สิทธิหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย เมื่อหักแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีกจำนวนหนึ่งจำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าว ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่ง เกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อ จำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ทั้งจำเลยได้ บรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตาม ระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างไร จำเลยได้รับความเสียหายอย่างไรเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วส่วนข้อที่ว่าโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบข้อบังคับอย่างไรฉบับที่เท่าใด เป็นเรื่องที่จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลย และในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยด้วย หนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยเรียกจากโจทก์จึงยังมีข้อต่อสู้ ดังนั้นจำเลยจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยก็ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่าการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบของจำเลยเป็นเหตุให้ ส. พนักงานเงินทุจริต นำเงินของจำเลยไปใช้ เป็นประโยชน์ส่วนตัวจำนวน 397,090.50 บาท และโจทก์ต้อง ร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลย แม้ในฟ้องแย้งของจำเลยจะมีคำขอให้โจทก์ใช้ เงินเพียง 36,130.15 บาท ก็เพราะจำเลยเข้าใจว่าสามารถนำสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดดังกล่าวมาหักกับสิทธิเรียกร้องในเงินตามฟ้องของโจทก์ได้ จึงต้อง ถือว่าจำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งหมดเมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องเป็นเงินรวม 375,257.14 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 360,960.35 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในขณะเดียวกันโจทก์ต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 397,090.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จดังนั้น เพื่อความสะดวกในการบังคับตาม คำพิพากษาจึงเห็นสมควรให้หักหนี้กันเสียโดย ให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปรากฏว่าเมื่อหักหนี้แล้วโจทก์ต้อง ชำระเงินให้จำเลยอีก 21,833.36 บาทพร้อมดอกเบี้ย ดังกล่าวแต่ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ จึงให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตาม คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2532
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งนักการภารโรงเรียกและรับเงินจากบริษัท อ. เป็นค่าจัดการโอนย้ายและติดตั้งโทรศัพท์ตามหมายเลขของ ป. ให้แก่บริษัทดังกล่าว แล้วไม่นำเงินไปชำระแก่ ป. เป็นเหตุให้ ป. ไม่ดำเนินการโอนโทรศัพท์ให้การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่จะขอใช้บริการของจำเลยโดยมิชอบและเป็นการกระทำในเรื่องที่นอกเหนือจากตำแหน่งหน้าที่ เป็นที่เสื่อมเสียและอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยที่กำหนดว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมซึ่งจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ และการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) อีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 574
แม้สัญญาเช่าซื้อระบุว่าหนี้ที่ค้างชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 แก่โจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้นไม่ใช่หนี้ที่ค้างชำระ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ม. 101
จำเลยเก็บแร่ไว้ในระหว่างที่ใบอนุญาตเดิม หมดอายุ แม้ภายหลังจำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้เก็บแร่ได้ อีก ใบอนุญาตใหม่ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปลบล้างหรืออภัยความผิดก่อนได้รับอนุญาต.