คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287, 290 ประมวลรัษฎากร
ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงาน ที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล สิทธิของกรมสรรพากรและกรุงเทพมหานคร ผู้ร้องตามประมวลรัษฎากรถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมายซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ชนะคดีและนำยึดที่ดินจำเลยออกขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดนั้นได้ตามมาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177, 183, 187
จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทรู้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้วแต่ก็ยังซื้อจึงถือได้ว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตจำเลยย่อมยกเอาการได้มาซึ่งที่พิพาทที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรุกล้ำที่ดินโจทก์ 142 ตารางวา จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยครอบครองที่ดิน 72 ตารางวา เมื่อมีการทำแผนที่พิพาทโดยคู่ความต่างนำชี้ปรากฏว่าจำเลยนำชี้ตามแนวเขตที่ดินที่จำเลยครอบครองมีเนื้อที่ 147 ตารางวา และคู่ความทั้งสองฝ่ายได้รับรองแผนที่นั้นแล้วจึงต้องถือว่าโจทก์จำเลยพิพาทกัน 147 ตารางวา
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้วว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสโจทก์นำพยานเข้าสืบในประเด็นดังกล่าวและโจทก์ก็ได้นำพยานเข้าสืบแล้วหาทำให้โจทก์เสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำให้เสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น จึงจะเป็นความผิด
การที่จำเลยเช่าที่นาของผู้เสียหายเพื่อทำนามานานประมาณ 20 ปี ต่อมากล้วยมีราคาดี จำเลยจึงจ้างคนขุดที่นาบางส่วนเพื่อปลูกกล้วยมิได้มีเจตนากระทำให้ทรัพย์ของผู้เสียหาย เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ จึงไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2585/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1274, 1275 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 188
ผู้ร้องทั้งสี่เคยร่วมกับพวกอีกสองคนยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ส.นายกสภากรรมการจัดการสมาคมชุดที่ 17 ได้ดำเนินการเลือกตั้งสภากรรมการจัดการสมาคมชุดที่ 18 ไปโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าคณะกรรมการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมให้เพิกถอนคณะกรรมการชุดนี้ออกจากตำแหน่ง และให้ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมใหม่โดยเร็ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรรมการชุดที่ 18 ขอจดทะเบียนอยู่ กองบังคับการตำรวจสันติบาลให้รอการจดทะเบียนไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่จำต้องสั่งให้ออกจากตำแหน่ง และศาลก็ไม่มีหน้าที่สั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่กับพวกคดีถึงที่สุด ต่อมาผู้ร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้อีกโดยบรรยายข้อเท็จจริงในคำร้องคดีนี้ทำนองเดียวกับข้อเท็จจริงที่บรรยายในคำร้องคดีก่อนเพียงแต่มีคำขอท้ายคำร้องเพี้ยนไปจากเดิมบ้างเล็กน้อย ย่อมเห็นได้ชัดว่าผู้ร้องทั้งสี่มาร้องเป็นคดีนี้อีกด้วยเหตุอย่างเดียวกันและคำขอทำนองเดียวกัน จึงเป็นการร้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทอันเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความแต่อย่างใดเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์คดีนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความหรือไม่และคดีฟังได้ว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นอันตกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 889 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจ่ายเงินให้แก่บุคคลซึ่งมีสิทธิตามสัญญานี้ไปจึงไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิบุคคลดังกล่าวฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 167 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
ถ้อยคำที่ว่า 'ในขณะที่ออก' หรือ 'ขณะที่ออกเช็ค' ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3(2) และ (3) หมายถึงวันสั่งจ่ายที่ลงไว้ในเช็คนั้นเองซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็ค ข้อเท็จจริงที่ว่าในวันออกเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คพิพาทได้หรือไม่ หรือบัญชีของจำเลยปิดแล้วหรือยัง จึงเป็นสารสำคัญแห่งคดีที่จะแสดงให้เห็นว่าคดีมีมูลความผิดดังฟ้องหรือไม่ แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ก็ต้องนำสืบให้ปรากฏถึงความข้อนี้ด้วย เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏคดีโจทก์ก็ไม่มีมูล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362
จำเลยซึ่งเป็นบุตรเจ้าของโรงเรียนไม่มีหน้าที่อันใดในโรงเรียนไปยืนอยู่หน้าห้องขัดขวางการประชุมครูของโจทก์ร่วมครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนซึ่งเช่าจากบิดาจำเลย ดังนี้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1310, 1312
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 และมาตรา 1312เป็นบทบัญญัติเรื่องที่ผู้สร้างมิได้รู้ว่า ที่ดินที่สร้างโรงเรือนหรือสร้างรุกล้ำนั้นเป็นที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต จะนำมาใช้ในกรณีจำเลยสร้างโรงเรือนในที่ดินขณะยังเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์จำเลยและบุคคลอื่นอยู่ หลังจากรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วปรากฏว่า เรือนจำเลยปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ไม่ได้ จำเลยต้องรื้อเรือนออกไป และไม่มีสิทธิฟ้องร้องว่ากล่าวเกี่ยวกับค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517
ครั้งแรกคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำตำบลมีคำวินิจฉัยว่า โจทก์นำนาพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกไม่ให้โจทก์เช่านาพิพาทได้ตามมาตรา 32(2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา มาตรา 43 ดังนั้นการบอกเลิกการเช่านาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯประจำตำบลยังไม่มีผลใช้บังคับได้ในทันที เมื่อจำเลยเข้าไปทำนาพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิการเข้าทำนาพิพาทของโจทก์ อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติไว้ อายุความมิได้นับเริ่มตั้งแต่วันที่นายอำเภอมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ประจำจังหวัดว่า จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่านาพิพาท