คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 31, 32, 33
แม้เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้แล้วจำเลยจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กลับจะนำเงินที่นำมาด้วยกลับไปนั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์จำเลย ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
การที่จำเลยขัดขืน.ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปที่ห้องจ่าศาลและร้องเอะอะโวยวายให้ผู้อื่นช่วย อันเนื่องมาจากการจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับ ซึ่งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะจับกุมจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ดังนั้นการนำตัวจำเลยมาศาลจึงต้องใช้กำลังฉุดกระชาก และจำเลยร้องเอะอะโวยวายเมื่อถูกใส่กุญแจมือนั้น ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยประพฤติตน ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 336
ผู้เสียหายจับมือ อ. เดินตามหาเพื่อน สวนทางกับจำเลยทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ตรงเข้าจับมือผู้เสียหายสะบัดหลุดจากมือ อ.ส่วนจำเลยที่ 2 เข้าจับอวัยวะเพศผู้เสียหายและกระชากสร้อยคอพาวิ่งหนีไป การที่จำเลยที่ 2 จับอวัยวะเพศผู้เสียหายไม่มีพฤติการณ์แสดงว่าได้คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อน การจับมือผู้เสียหายแสดงให้เห็นเจตนาเพียงให้โอกาสจำเลยที่ 2 กระชากสร้อยได้สะดวกเท่านั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานกระทำอนาจาร คงผิดฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2672/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 231, 228 (2), 247, 264
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยใหม่ พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ระงับการจำหน่าย จ่าย โอนที่ดินพิพาทศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องที่ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย โอนที่ดินพิพาท คำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้มิใช่คำสั่งอันเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาล เพราะได้มีการบังคับคดีไปตามคำพิพากษาโดยการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยแล้ว คำขอของจำเลยต่อศาลอุทธรณ์ เป็นคำขอเพื่อให้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาได้ตามมาตรา 224(2),247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ,
ลูกจ้างป่วยมีอาการคล้ายโรคอัมพาต ลุกเดินนั่งและหยิบจับสิ่งของไม่สะดวกมาประมาณ 2 ปีและไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำได้ ถือได้ว่าลูกจ้างหย่อนความสามารถ แม้นายจ้างจะมีสิทธิตามสัญญาและตามระเบียบข้อบังคับที่จะถอดถอนลูกจ้างออกจากตำแหน่งได้แต่การที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากตำแหน่งในกรณีนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 47(3) นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
กรณีดังกล่าว การที่นายจ้างให้โอกาสแก่ลูกจ้างที่จะพักรักษาตัว ได้ และลูกจ้างได้ลาพักรักษาตัวเป็นเวลาถึง2 ปี ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างหายเป็นปกติเพื่อจะได้ทำงานต่อไป มิใช่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 45 มิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนแต่อย่างใดเมื่อลูกจ้างยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 226
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และให้งดการส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จำเลยจึงอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาสองข้อนี้ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 445, 575
การที่ลูกจ้างของโจทก์ต้องเสียชีวิต เพราะการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลยนั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ต้องขาดแรงงาน เพราะเมื่อลูกจ้างโจทก์เสียชีวิต การจ้างแรงงานย่อมเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่ได้แรงงานแต่ขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่ต้องให้สินจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบแล้วดังนี้ ถือว่าจำเลยต่อสู้ว่าไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม เป็นการปฏิเสธที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหาใช่เป็นการยอมรับไม่ ศาลจะสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาตามมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ที่ให้อำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่าลูกจ้างกับนายจ้างสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ด้วยซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลโดยต้องคำนึงถึงสภาพจากสถานประกอบการนั้น และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างถ้าเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็จะกำหนดให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างแทนการบังคับให้รับกลับเข้าทำงาน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในการพิจารณาว่าโจทก์จำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันได้มาวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงหาใช่เป็นเรื่องวินิจฉัยนอกประเด็นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 807
จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบิดาและเป็นบุคคลต่างด้าว ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการเมื่อจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมถูกผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม จะยึดถือที่ดินพิพาทไว้เป็นทรัพย์สินของตนหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 20 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ที่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าหากศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกแต่เพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
คนขับรถยนต์ของโจทก์นำรถไปบรรทุกไม้ผิดกฎหมายศาลพิพากษาลงโทษและสั่งริบรถยนต์ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์ตามคำร้อง โจทก์ขอรับรถคืนสารวัตรสถานีตำรวจจำเลยที่ 3 ไม่คืนให้ เพราะได้ขายทอดตลาดไปแล้ว ดังนี้ กรมตำรวจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมกันคืนรถหรือใช้ราคารถตามสภาพขณะยึดมาเป็นของกลางไม่ใช่ตีราคาโดยอาศัยราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด รวมทั้งค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถด้วย