คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2525

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 86, 98 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

แม้การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะเป็นสิทธิของนายจ้างที่ จะเป็นผู้กำหนดก็ตาม แต่การหยุดนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ดังนั้น การที่นายจ้างประกาศหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างที่ยังไม่มีสิทธิหยุดกับลูกจ้างที่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้วให้ได้หยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่ชอบ

การที่สหภาพแรงงานยินยอมให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีได้โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สมาชิกสหภาพแรงงานแต่อย่างใด การกระทำของสหภาพจึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น แม้ลูกจ้างจะไม่คัดค้านประกาศ และการประชุมชี้แจงของนายจ้างก็ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างยินยอมที่จะไม่รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่าเห็นด้วย กับผลของคำพิพากษา แต่ไม่เห็นด้วยในเหตุผลที่ศาลแรงงานกลางอ้าง เป็นอุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้งผลของคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ทั้งมิได้อ้างว่าผลแห่งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางทำให้จำเลยเสียสิทธิ หรือมีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยประการใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 570 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94

สัญญาเช่าที่ดินระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าระบุไว้ว่า ผู้เช่าเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านเรือนอาศัยมีกำหนดหนึ่งปี เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วผู้เช่ายอมให้ถือว่าสัญญาเช่าระงับสิ้นสุดลง ครั้นสิ้นกำหนดเวลาเช่าแล้วผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีกหนึ่งปีโดยให้ถือสัญญาเดิม จากนั้นก็ไม่ได้ทำสัญญาเช่าต่อกันอีก การที่ผู้เช่ายังคงครองที่ดินต่อมาโดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง ถือว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 ซึ่งข้อตกลงอื่นของสัญญาใหม่ย่อมต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม การที่จำเลยจะนำพยานบุคคลมาสืบว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าอยู่ในที่ดินที่ เช่าไปจนตลอดชีวิตอันเป็นสัญญาต่างตอบแทน ยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จึงเป็นการขอสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่า ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2388

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2388/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 379, 461, 472

สัญญาซื้อขายข้อ 7 กำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบไม่ครบจำนวนและผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาแก่ผู้ขาย ส่วนข้อ 8 กำหนดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่ผู้ขาย ยังคงยอมให้ผู้ขายนำสิ่งของที่ซื้อขายส่งให้แก่ผู้ซื้อต่อไป ผู้ซื้อจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากผู้ขายเป็นรายวันได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ ถูกต้อง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับตามสัญญาข้อ 7 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 221

การอนุญาตให้ฎีกาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณา.หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้ง หากโจทก์ประสงค์จะให้ผู้พิพากษาคนใดอนุญาตให้ฎีกา ก็ชอบที่จะขวนขวายให้มีการรับรองและอนุญาตเอง ศาลไม่มีหน้าที่ส่งฎีกาของโจทก์ไปให้รับรอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

คดีเดิมโจทก์ฟ้องเกี่ยวกับสัญญาแบ่งผลประโยชน์ตึกแถวพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยอ้างว่าโจทก์นำสืบพยานหลักฐานได้ไม่สมตามฟ้องและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยผิดสัญญาอย่างใด จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ในคดี เดิมศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะเหตุโจทก์มิได้บรรยายฟ้อง ถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาข้อ ไหนอย่างไร หาได้วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาดังกล่าว หรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญา อย่างไร ซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อน กรณีจึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 254

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์มาพร้อมอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่ง คำร้องขอของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา254 วรรคท้าย การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์สั่งและศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2386/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177

โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าได้ทำสัญญาจริง แต่ได้ชำระหนี้แล้ว โจทก์ไม่ยอมแทงเพิกถอนและไม่ยอมคืนหนังสือสัญญา ดังนี้ เป็นการเพียงพอที่จะนำสืบตามข้อกล่าวอ้างได้แล้ว ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดแห่งการชำระหนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องนำสืบต่อไป จำเลยอาจมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดงต่อศาลก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 67, 83, 86

จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้ายซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67(1) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันทีดังนี้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2377

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2377/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78

จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา ดังนี้ ไม่ควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง แต่ควรลดโทษให้หนึ่งในสาม

« »
ติดต่อเราทาง LINE