คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม, 224, 248, 249

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อเครื่องปรับอากาศ 110,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ซื้อแต่เป็นนายหน้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินค่านายหน้า 10,600 บาทแก่จำเลยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเครื่องปรับอากาศและยกฟ้องแย้งจำเลยดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2834

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2834/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสี่ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 23, 27

โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 23 แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีใช้รถผิดประเภทอันเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และความผิดตามมาตรา 27 นี้โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและมิได้อ้างบทมาตรามา ในคำขอท้ายฟ้องจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจึง ลงโทษจำเลยไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2525

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 ม. 20 (6), 64 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523 ม. 15 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59

หนังสือลาออกของจำเลยระบุชัดเจนว่าขอลาออกจากตำแหน่งกำนันก่อนที่จะยื่นใบสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดดังนั้น แม้หนังสือลาออกของจำเลยจะไปถึงจังหวัดและจำเลยได้รับการอนุมัติให้ออกจากตำแหน่งหลังจากที่จำเลยยื่นใบสมัครแล้วก็ตาม ก็เป็นการปฏิบัติของทางราชการจำเลยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยการกระทำของจำเลยจึงเป็นการขาดเจตนาจำเลยไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828 - 2829/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่นำคำเบิกความของตัวโจทก์และพยานมากล่าว แล้วสรุปตามคำเบิกความนั้นว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายมิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยนั้นคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ

ลูกจ้างเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชี ไม่มีหน้าที่ต้องไปศาลการที่นายจ้างให้ลูกจ้างนั้นไปเบิกความที่ศาลจึงไม่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ไปเบิกความตามที่นายจ้างสั่งจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76, 204, 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปขององค์การโทรศัพท์ฯจึงไม่มีฐานะเป็นนายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 2ส่วนกรรมการองค์การโทรศัพท์ ฯ ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์ฯ มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงาน ถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามความหมายของกฎหมาย จึงต้องรับผิดต่อลูกจ้างขององค์การโทรศัพท์ ฯ แต่หาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่

กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อจัดระเบียบในการจ้างการใช้แรงงานและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจโดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ได้มิใช่เป็นการก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจของฝ่ายบริหารส่วนมติของคณะรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้นไม่อาจใช้บังคับในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายได้

หลังจากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ ฯ มีมติให้ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯพ้นจากตำแหน่งแล้วจึงได้มีคำเสนอขององค์การโทรศัพท์ ฯเชิญให้เป็นที่ปรึกษาขององค์การโทรศัพท์ฯดังนี้เป็นการเลิกจ้างแล้วหาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ไม่

เมื่อศาลแรงงานเห็นว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจทำงานร่วมกันได้ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจไม่สั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามที่ลูกจ้างฟ้องขอให้บังคับแต่ให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอื่นลูกจ้างฟ้องเรียกให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิได้ทวงถามก่อน ศาลพิพากษาให้ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335 (1), 335 (3), 339

จำเลยกับพวกเข้าไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนแล้วจำเลยถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปในห้องนอนผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายตะโกนเรียกให้บิดาช่วยทันทีที่เห็นจำเลยจำเลยผละวิ่งหนีออกจากห้องนอนในขณะนั้นโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้มีดจ้องจี้หรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2812 - 2816/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223, 420, 425, 438 พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489

เมื่อลูกจ้างของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างมีความประมาทพอ ๆ กัน มิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน สมควรให้ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงใช้แก่กันนั้นเป็นพับ และเป็นผลถึงโจทก์และจำเลยในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้กระทำละเมิดดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน

โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดยะลา ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษให้ใช้บังคับแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม อันเกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดก เฉพาะในสี่จังหวัดดังกล่าว แทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 เมื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่าได้แต่งงานเป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างจึงต้องฟังว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นสามีภรรยาและเป็นบิดามารดาของบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่กฎหมายได้รับรอง โดยมิต้องคำนึงว่าจะเกิดเป็นคดีพิพาทในจังหวัดใด ๆ ก็ตาม และเมื่อมีผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 2 ที่ 3ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำละเมิดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 24, 72, 73

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มี หรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะอันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่วไปซึ่งไม่ใช่เพื่อการค้าเมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีกจึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้

การมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 24 เป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน การที่จำเลยจะจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนั้นการที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 341, 344 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดในกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ หรือไม่ หากขณะเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดดังกล่าว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะอ้างเหตุต่าง ๆ ขึ้นภายหลังเพื่อเป็นการปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่

แม้ข้อบังคับของจำเลยผู้เป็นนายจ้างจะกำหนดว่า ลูกจ้างที่มีข้อผูกพันจะต้องชดใช้ให้แก่จำเลย ให้จำเลยมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของลูกจ้างได้ก็ตามการที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิดได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และพนักงานอัยการกำลังพิจารณาอยู่ ได้ความเพียงเท่านี้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อผูกพันที่จะต้องชดใช้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะหักเงินบำเหน็จของโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515

นายจ้างค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มกรมแรงงานทวงถามแล้วก็ไม่ชำระ ดังนี้ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 แล้ว แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 10 จะกำหนดให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบ และหรือเงินเพิ่มเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระเงินที่ค้างจ่ายได้ ก็เป็นเรื่องให้อำนาจพิเศษแก่อธิบดีกรมแรงงาน มิใช่เพื่อตัดสิทธิกรมแรงงานที่จะเสนอคดีต่อศาล กรมแรงงานมีอำนาจฟ้องเรียกเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มจากนายจ้างได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE