คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177, 240 (2), 243 (2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 56 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ,

จำเลยเพียงให้การว่าโจทก์ปิดประกาศข้อความโดยมีเจตนาที่จะให้ อ. ผู้จัดการโรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบว่า อ. เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยานและข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า อ. เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ความว่าได้รับมอบหมายให้กระทำการหรือมีอำนาจหน้าที่อย่างใด บ้างอันจะถือว่าเป็นตัวแทนของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าอ. เป็นตัวแทนของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบและถึงแม้อ. จะเป็นตัวแทนของจำเลย ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับอ. เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยให้การไว้ด้วยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดตามข้อบังคับของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ และศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2866

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2866/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 821 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 (3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

แม้คดีเดิมศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ตัดสิทธิโจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่และคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่นายจ้างของโจทก์ตามความหมายของกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้รับผิดในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2863

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2863/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 798, 821

การตั้งตัวแทนที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798นั้น เป็นกรณีที่บุคคลกระทำการตั้งตัวแทนโดยมีการตกลงกันระหว่างตัวการและตัวแทน ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 นั้น เป็นกรณีที่มิได้มีการตกลงกันตั้งตัวแทน แต่เป็นการที่บุคคลคนหนึ่งแสดงออกหรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ให้เขาหลงเชื่อว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้บุคคลซึ่งแสดงออกหรือยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งแสดงออกต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

โจทก์แสดงออกหรือยอมให้ ส. แสดงออกว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ และ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรง โจทก์จึงต้องรับเอาผลของการที่ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 มาเป็นของตน จะอ้างว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 หาได้ไม่ มูลหนี้ของโจทก์อันเกิดจากการละเมิดที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นอันระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 158 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 125

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มิได้กำหนดวิธีการนับระยะเวลาไว้จึงต้องนำวิธีการกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 มาใช้บังคับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องของนายเกรียงศักดิ์นพศรี ลูกจ้าง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 จึงจะนับวันแรกที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้องรวมคำนวณด้วยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 125 จึงต้องเริ่มนับจาก วันที่ 28 พฤษภาคม 2524 และจะครบกำหนดเก้าสิบวันในวันที่ 25 สิงหาคม 2524

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 125 วรรคสองให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจในการขยายเวลาการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไว้อย่างกว้างขวาง ไม่มีข้อจำกัดหรือกำหนดวิธีการในการร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งอนุญาตไว้แต่อย่างใด เมื่อมีคำขออนุมัติขยายเวลาชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไปอีกสามสิบวัน นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2524 ถึงวันที่24 กันยายน 2524 ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามคำขอนั้นแล้ว และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งก่อนครบกำหนดสามสิบวัน ตามที่ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไป คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 122, 537

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทำสัญญาให้เช่าที่ดินพิพาทแก่ป. และทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในขณะที่สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดเวลาเช่า ในสัญญาเช่ามีข้อความว่าถ้าผู้ให้เช่าตกลงขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้ใดก่อนครบกำหนดการเช่าตามสัญญา ผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า เพื่อผู้เช่าเตรียมตัวออกจากทรัพย์สินที่เช่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเดือน และผู้ให้เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบด้วยว่าจะตกลงขายให้แก่ผู้ใดเป็นเงินเท่าใดเพื่อผู้เช่าจะได้มีโอกาสตกลงซื้อได้ก่อนในเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควรนั้นการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยด้วยการนำเอาความเท็จมาแจ้งแก่จำเลยว่าผู้เช่ายินยอมให้ขายที่ดินพิพาทได้นั้น แม้จะเป็นความจริงก็มิใช่กลฉ้อฉลอันถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 122. เพราะตามสัญญาเช่านั้นเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ให้เช่าที่จะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบว่า จำเลยตกลงขายให้ผู้ใดเป็นเงินเท่าใด หาใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องแจ้งแก่จำเลยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 221

คำสั่งในฎีกาที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า 'ในฐานะเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ขอรับรองให้จำเลยฎีกาได้ จำเลยฎีกาในกำหนดรับเป็นฎีกาของจำเลย' มิใช่คำอนุญาตที่ชอบศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำและเมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญาจ้างได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่เช่นนั้น ดังนั้น การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่จึงเป็นสิทธิของนายจ้างเมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแล้วก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของลูกจ้าง ลูกจ้างหามีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,

ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยหลับยาม แต่เป็นการกระทำผิดครั้งแรกและมิได้ทำให้ทรัพย์สินของนายจ้างเสียหายยามคนอื่นที่หลับยามเช่นเดียวกันก็ถูกลงโทษเพียงตัดค่าแรงงานและมีหนังสือตักเตือนเท่านั้น การหลับยามจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

แม้ลูกจ้างเคยกระทำผิดวินัยตามระเบียบของนายจ้างและถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาครั้งหนึ่งแล้วมากระทำผิดวินัยข้อเดียวกันนั้นอีก แต่มิใช่เรื่องเดียวกันกล่าวคือความผิดครั้งก่อนเป็นเรื่องปล่อยให้บุคคลนำอาหารเข้าไปรับประทานในโรงงานครั้งนี้เป็นเรื่องหลับยามดังนี้นายจ้างยังหามีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

จำเลยเป็นผู้ผูกขาดกิจการรถแท็กซี่ประจำโรงแรมมีบุคคลนำรถเข้ามาร่วมพร้อมทั้งพนักงานขับรถ ถ้าไม่มีพนักงานขับรถจำเลยจะจัดหาให้ พนักงานขับรถจะต้องจ่ายค่าจอดรถให้จำเลย และต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงค่าน้ำมันหล่อลื่น ค่าซ่อมและค่าบำรุงรักษารถคนละครึ่งกับจำเลยพนักงานขับรถมีรายได้จากผู้ใช้บริการรถที่ตนขับซึ่งจำเลยจะเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้เมื่อหักค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกันแล้วจำเลยจึงจัดแบ่งให้ทุกต้นเดือนโดยจำเลยมีสิทธิได้รับ 70 เปอร์เซ็นต์ พนักงานขับรถมีสิทธิได้รับ30 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้ เงินที่พนักงานขับรถมีสิทธิจะได้รับมิใช่เงินของจำเลยมีลักษณะต่างไปจากค่าจ้างซึ่งเป็นเงินของนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับพนักงานขับรถก็มิใช่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2847/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 39แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมายถึงค่าจ้างทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือนและค่าครองชีพที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำด้วย นายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้นแต่เฉพาะเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบของนายจ้างหาได้ไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE