คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2917

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2917/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , ,

เดิมจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งยุบตำแหน่งที่โจทก์ดำรงอยู่ ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและส่งมอบงานก่อนวันพ้นจากตำแหน่ง ต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ส่งมอบงานภายในกำหนดอันเป็นการขัดคำสั่งหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยมีสิทธิแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้ปลดโจทก์ออกจากงานเพราะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงได้ ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2525

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2, 10 ทวิ

ความรับผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับรถยนต์ที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ และการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพรถยนต์ ราคารถยนต์ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่โจทก์นำรถยนต์เข้ามาในประเทศไทย

ราคารถยนต์ที่จะคำนวณภาษี ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสดไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่หักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด

รถยนต์ที่โจทก์ซื้อมาเป็นรถยนต์ซึ่งผู้สั่งซื้อไว้ไม่ยอมซื้อ บริษัทผู้ขายจึงลดราคาให้เป็นพิเศษ จึงแสดงว่าราคารถยนต์ที่โจทก์ซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคารถยนต์ที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่ เพราะมิใช่ราคาขายส่งซึ่งจะพึงขาย ณ เวลาและที่ที่นำเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา เมื่อราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไปเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582, 583 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60, 66, 87 (2), 88 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 45, 54 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

แม้ผู้ที่จะกระทำการแทนบริษัทจำเลยได้ต้องมีกรรมการ 2คนลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลย แต่วันเดียวกับที่ว. กรรมการของจำเลยลงชื่อในคำให้การ แต่ผู้เดียวโดยมิได้มีตราสำคัญประทับนั้น จำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พ. เป็นผู้มาชี้แจงให้ถ้อยคำและต่อสู้คดีแทนจำเลยด้วยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาสั่งให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องอำนาจผู้ยื่นคำให้การได้

การสืบพยานในศาลแรงงานนั้น ศาลแรงงานจะเป็นผู้ซักถามพยานเองตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ดำเนินการซักถามพยานโจทก์จำเลยโดยตลอด และไม่ปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าศาลแรงงานกลางได้ยกเอาคำซักถามพยานของพ. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยซึ่งมิได้เป็นทนายความตอนใดขึ้นมาเป็นเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย อุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นอย่างอื่น

ศาลแรงงานกลางมีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โดยเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้นจึงเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจของศาลอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ของจำเลยทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยย่อมเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2904

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2904/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินของสุขาภิบาลกำหนดให้ต้องมีกรรมการควบคุมการไปรับเงินธนาคาร หากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 กรรมการ ก็อาจควบคุมดูแลมิให้จำเลยที่ 1 ปลอมใบขอถอนเงินและรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจึงเป็น เหตุโดยตรงที่ทำให้สุขาภิบาลโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2896

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2896/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1480

โจทก์กับ ช. สมรสกัน 60 ปี มาแล้วมีบุตรคนเดียว ต่อมาโจทก์ไปบวชชีโดยไม่ได้หย่ากัน ช. เป็นข้าราชการบำนาญ ออกจากบ้านเดิมไปพักอาศัยอยู่กับจำเลยและมารดา แล้วยกที่พิพาท 4 แปลงอันเป็นสินสมรสให้จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นญาติกับโจทก์หรือ ช. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์และ ช. มีทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นอีก ดังนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อปราศจากความยินยอมของโจทก์การให้จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ขอเพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173

คดีนี้โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างเดียวกับที่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองไว้ในคดีก่อน จึงเป็นคำฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173(1) ส่วนจำเลยที่ 1และที่ 2 โจทก์มิได้ฟ้องในคดีก่อนด้วยไม่ถือเป็นฟ้องซ้อนโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 30, 31, 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 106, 198 ทวิ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 13, 14, 15, 16

การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ถึง มาตรา 33นั้น หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใด ก็เป็นอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีนั้นที่จะใช้อำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าว

การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดอุดรธานี)ลงโทษผู้ขอประกันฐานละเมิดอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ย่อมเป็นการลงโทษในกรณีที่ผู้ขอประกันละเมิดอำนาจศาลทหาร ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาลพลเรือน คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งของศาลทหาร ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับอุทธรณ์ของผู้ขอประกันไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 188

หลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว. ลูกหนี้ได้ทำบันทึกยอมผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อันเป็นการรับสภาพความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในหนี้นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2525

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 17, 21, 22, 41

แม้โจทก์จะมิได้แจ้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าได้ตกลงกับจำเลยหรือได้นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดสามเดือนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 17 มาตรานี้ ก็เพียงแต่ให้นายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของฝ่ายที่ยื่นขอจดทะเบียนก่อนเท่านั้นต่อมาเมื่อนายทะเบียนฯประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 21 เพื่อดำเนินการรับจดทะเบียนต่อไปโจทก์กลับยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 22 และจำเลยยื่นคำโต้แย้งแล้ว นายทะเบียนฯก็หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 โจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 22 วรรคสี่และวรรคห้า ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้วถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148, 224, 247, 249

คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูตามหนังสือสัญญาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ขณะฟ้องโจทก์ยังพักอยู่ในบ้านพิพาท ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ยังพักอยู่ในบ้านพิพาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาพิพากษายกฟ้อง ส่วนขณะฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่าไม่ได้พักอยู่ในบ้านพิพาทแล้วจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างเหตุขึ้นใหม่ แม้โจทก์จำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมฟ้องโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูเป็นเงิน 13,075 บาทกับให้จำเลยชำระต่อไปเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตของโจทก์เป็นคดีที่จำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 20,000 บาท และเป็นการฟ้องตามสัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงนี้ยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา

« »
ติดต่อเราทาง LINE