คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
การที่ข้าราชการละเว้นไม่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติราชการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของทางราชการนั้น อาจทำให้ข้าราชการต้องรับผิดในทางวินัยก็จริง แต่จะถือเป็นหลักแน่นอนตายตัว ว่า เมื่อข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยแล้วต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เสมอไป หาได้ไม่การที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยกระทำผิดวินัยนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์เสียหาย
จำเลยรับราชการเป็นครู อาจารย์ใหญ่ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นครูเวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ควบคุมคนยามมิให้ละทิ้งหน้าที่แต่ต้องมาอยู่เวรที่โรงเรียนและนอนในห้องที่โรงเรียนจัดไว้ คืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้มาอยู่เวร คงมีแต่ภารโรงทำหน้าที่เป็นคนยาม ระหว่างอยู่ยามรักษาการณ์คนยามได้หลับยาม คนร้ายจึงได้งัดเข้าไปลักทรัพย์ในโรงงานที่ 4 และที่ 6 ของโรงเรียนที่อยู่ห่างจากห้องที่ครูเวรนอนออกไปถึง 50 เมตร และ 250เมตร ตามลำดับ ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้อยู่เวรจะล่วงรู้ได้ ถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดการลักทรัพย์ดังกล่าวขึ้นได้ เพราะไม่มีหน้าที่เป็นคนยามคอยตรวจตราเฝ้าขโมย การที่โรงเรียนถูกลักทรัพย์ จึงไม่ใช่ผลโดยตรง จากการที่จำเลยไม่มาอยู่เวร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1754
โจทก์และจำเลยทั้งเก้าเป็นญาติพี่น้องกัน มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของร่วมกันโดยได้รับมรดกมา แล้วต่างก็ครอบครองทำกินกันมาเกิน 10 ปี เมื่อมีการขายที่ดินบางส่วนให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อ ประโยชน์ของกรมชลประทานโจทก์จำเลยทุกคนก็ได้รับเงินค่าขายที่ดิน เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยปรปักษ์ แม้ครอบครองมาเกิน 10 ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามส่วนที่ครอบครอง ต้องแบ่งที่ดินกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกมา
จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับมรดกที่ดินพิพาท เมื่อต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกันมาเช่นนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1385 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60
วัดโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ยังเป็นเสนาสนะอันมีพระสงฆ์พำนักอยู่เป็นประจำและยังไม่มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อนับเวลาดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาตั้งแต่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีวัดโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม มาตรา 1382
ถ้อยคำว่า 'วัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม โดยพระอธิการเจริญจากวโรเจ้าอาวาสขอมอบให้จ่าสิบเอกนิติอิ่มจิตต์เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง' นั้นถูกต้องชัดเจน แต่ข้อความว่าพระอธิการเจริญ เจ้าอาวาสวัดสุคันธารามมอบอำนาจให้จ่าสิบเอกนิติฟ้องจำเลยในคดีแพ่งเรื่องธรณีสงฆ์ก็เข้าใจได้ว่ามอบอำนาจในฐานะผู้แทนนิติบุคคล มิได้แสดงว่าพระอธิการเจริญมอบอำนาจในฐานะส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 35 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469
ของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นเครื่องรับวิทยุและเสาอากาศเครื่องรับวิทยุสำหรับใช้ติดกับรถยนต์ซึ่งเป็นของต่างประเทศที่ยังไม่เสียภาษีศุลกากรจำเลยรับจ้างขนของดังกล่าวโดยรู้ว่าเป็นของต่างประเทศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรเท่านั้นของกลางที่ศาลสั่งริบจึงเป็นทรัพย์ที่ยังไม่ควรทำลายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1947/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 531
จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่าโจทก์ประพฤติตัวไม่ดี เคยมีชู้ ถือได้ว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) โจทก์ถอนคืนการให้ได้และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่พิพาทที่โจทก์ยกให้นั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อไปเพื่อจะไม่ให้โจทก์เรียกคืนโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หาจำเป็นที่โจทก์จะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมนั้นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1368
จำเลยเอาที่นาของจำเลยมาแลกกันทำกินกับที่พิพาทของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองทำกินในที่พิพาทมาช้านานเพียงใดจำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทเพราะการครอบครองของจำเลยเป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 48, 69, 73
ในกรณีผู้กระทำความผิดถูกลงโทษจำคุกหลายกระทงในคดีเดียวกัน การพิจารณาว่าจะรอการลงโทษได้หรือไม่ต้องพิจารณาถึงโทษจำคุกในความผิดแต่ละกระทงที่ศาลลงแก่ผู้นั้นคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 กระทง โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกินกว่า 2 ปี จึงอยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะรอการลงโทษให้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 160 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13, 62, 89
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยบังอาจสมคบร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในความครอบครองเพื่อขาย อันเป็นการขายตามกฎหมายนั้น เป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียงกระทงเดียว แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุมาตรา13 กับ 62 อันเป็นความผิดฐานขายกับฐานมีไว้ในครอบครองมาทั้งสองมาตรา แต่เห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ให้ศาลลงโทษฐานขาย หากฟังไม่ได้ศาลจะได้ลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองเท่านั้น เมื่อพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีไว้เพื่อขาย อันเป็นการขายตามมาตรา 13,89 และศาลลงโทษจำเลยตามนั้นแล้ว ก็เป็นการลงโทษเต็มตามฟ้องแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
การยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2523
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 (5)
กรณีห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามมาตรา 3(5) จะมีความผิดก็ต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค ดังบทบัญญัติในวรรคท้ายของมาตรา 3 วันที่ในเช็คอันเป็นกำหนดเวลาที่สั่งให้ธนาคารใช้เงินจึงเป็นสารสำคัญของการกระทำความผิดฐานนี้ด้วย เช็คไม่ลงวันที่ย่อมถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การออกเช็คโดยไม่ลง วันที่ผู้ออกเช็คไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(5)