คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 1359

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1359 ให้อำนาจเจ้าของ รวมใช้สิทธิต่อสู้บุคคลภายนอกอันหมายถึงฟ้องขับไล่ด้วยหาได้หมายความเพียงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกฟ้องอย่างเดียวไม่

การเข้าอยู่ในห้องพิพาทโดยได้ออกเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ก่อสร้างเพื่อตนจะได้เข้าทำสัญญาเช่ากับเจ้าของห้องพิพาทหาใช่เป็นการช่วยค่าก่อสร้างห้องพิพาทไม่สัญญาเช่าที่ทำกับเจ้าของห้องพิพาทจึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงใช้บังคับได้เพียง 3 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 249

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากห้องพิพาทที่โจทก์เช่าจากเจ้าของ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทจำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาทโดยมอบให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแทนแม้จะเป็นการเถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากเจ้าของก็ตามก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง

แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาข้อเท็จจริงได้แต่เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 276

สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่าจำเลยยอมชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2520 เป็นต้นไปโดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ คือ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2521 เป็นต้นไปถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 เงินต้นจ่ายเดือนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้าง ดังนี้ แสดงว่าจำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละ 1 งวดทุก ๆ เดือนไป วันเริ่มต้นนับคือวันที่ 18 มกราคม 2521 วันครบกำหนด 1 เดือนในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 การที่จำเลยชำระหนี้งวดแรกแก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 จึงเป็นการชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้หาเป็นการผิดนัดชำระหนี้ จนระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้วอันจะเป็นเหตุให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันทีในเมื่อโจทก์ร้องขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1748, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

โจทก์จำเลยครอบครองที่พิพาทร่วมกันตลอดมา แม้โจทก์จะฟ้องขอแบ่งมรดกที่พิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ขอส่วนแบ่งมรดกเพียง 1 ใน 5 ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วนไม่ได้เพราะเกินคำขอในคำฟ้องของโจทก์(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 259/2506)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 438, 443 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93, 125

จำเลยขับรถประมาทชนสามีโจทก์ตาย นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำศพแล้วโจทก์ได้สร้างเจดีย์รอบฮวงซุ้ยสำหรับเก็บศพผู้ตายอันเป็นประเพณีของคนทั่วไปที่มาฝังศพที่ฮวงซุ้ยแห่งนั้น โจทก์ย่อมเรียกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ตามสมควรแก่ฐานะของผู้ตาย แต่เนื่องจากเจดีย์รอบฮวงซุ้ยของผู้ตายนี้ ผู้ตายได้สร้างมาก่อนสำหรับเก็บศพบรรพบุรุษและตัวผู้ตายเอง สร้างยังไม่เสร็จก็ตายเสียก่อน เมื่อผู้ตายตายแล้วก็ได้มีการก่อสร้างต่อจนเสร็จและได้นำศพผู้ตายไปฝังไว้ ณ ฮวงซุ้ยแห่งนั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเจดีย์และฮวงซุ้ยก่อนผู้ตายตายจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่จำเลยจะต้องรับผิด แต่ค่าใช้จ่ายภายหลังจากที่ผู้ตายตายจนกระทั่งการก่อสร้างเจดีย์รอบฮวงซุ้ยแล้วเสร็จ เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงซึ่งจำเลยจะต้องรับผิด และเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ได้ก่อสร้างหลังจากผู้ตายได้ตายแล้วเป็นเงินเท่าใด ศาลก็กำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเรื่องการเลือกตั้งนายกและกรรมการของสมาคม ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประชุมใหญ่อีกที่ประชุมใหญ่ได้มีมติเลือกตั้งนายกและกรรมการของสมาคมใหม่นายกและกรรมการของสมาคมชุดที่ผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมดสภาพไป จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไปศาลอุทธรณ์มีอำนาจมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375, 1381

จำเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ ระหว่างขายฝากโจทก์ยินยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิโจทก์ จำเลยมิได้ใช้สิทธิไถ่ที่พิพาทภายในเวลาที่กำหนดจนที่พิพาทหลุดเป็นของโจทก์ แต่จำเลยก็ยังครอบครองที่พิพาทโดยร่วมทุนกับโจทก์ปลูกยาสูบต่อมาอีก จึงถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ โจทก์บอกให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาท จำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าโดยอ้างว่าได้ชำระเงินค่าไถ่ถอนที่พิพาทแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยยังมิได้ชำระเงินค่าไถ่ถอนเพียงแต่การที่จำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้สองประเภท คือมูลหนี้ค่าซื้อขายรถยนต์ ซึ่งผู้อื่นเป็นหนี้กับหนี้ที่จำเลยเคยยืมเงินโจทก์ค้างชำระอยู่เดิม นำมารวมทำไว้เป็นสัญญากู้ฉบับเดียวกันให้จำเลยเป็นลูกหนี้ทั้งหมด แม้ทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าหนี้ที่รวมทำไว้เป็นสัญญากู้สมบูรณ์เฉพาะหนี้ส่วนที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ หนี้อีกประเภทหนึ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการแก้มาก โจทก์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 45 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 74, 79 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119 วรรคหนึ่ง

ผู้ร้องมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกันไป ถือได้ว่าบ้านแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหนังสือทวงหนี้และหนังสือเตือนให้ผู้ร้องชำระหนี้ไปที่บ้านแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74,79 แล้ว

ผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชอบแล้วแต่มิได้ปฏิเสธหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด ถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 61, 62

เมื่อปรากฏว่าตัวความได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก่อนยื่นฎีกา 1 วัน และใบแต่งทนายที่ให้อำนาจทนายลงชื่อในฎีกาที่ยื่นนั้นก็ลงวันที่ไว้หลังจากที่ตัวความถึงแก่กรรมแล้วทนายความจึงไม่สามารถอาศัยใบแต่งทนายนั้นลงชื่อในฎีกาได้ ฎีกาที่ยื่นจึงไม่เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE