คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2523
ประมวลรัษฎากร ม. 42 (9), 77, 78 ทวิ (3) บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 11
โจทก์ซื้อที่ดินมาและในวันเดียวกันนั้นได้ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินส่วนหนึ่งออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ต่อมาในเวลาใกล้เคียงกันได้ยื่นคำขอแบ่งแยกเพิ่มเติมอีกรวมเป็นจำนวนหนึ่งร้อยแปลงเศษแล้วเริ่มขายที่ดินที่แบ่งแยกเป็นแปลง ๆ นั้นตั้งแต่ปีแรกที่ซื้อมา ส่วนที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่มิได้แบ่งแยกโจทก์ย้ายโรงเรียนราษฎร์ของโจทก์เข้าไปอยู่หลังจากซื้อที่ดินมาราว 10 ปีดังนี้ แสดงว่าโจทก์ซื้อที่ดินส่วนที่ได้แบ่งแยกและขายไปนั้นมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าในประเภทการค้า 11 บัญชีอัตราภาษีการค้า ต้องเสียภาษีการค้าและเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการขายที่ดินนั้นไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย
เมื่อไม่ได้ความว่าที่ดินที่โจทก์ขายไปนั้นโจทก์แบ่งแยกไว้เพื่อการสวัสดิการแก่ครูในโรงเรียนของโจทก์ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำต้องขายที่ดินนั้นไปเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินเกี่ยวกับกิจการโรงเรียนราษฎร์แต่โจทก์ซื้อที่ดินส่วนนั้นมาเพื่อขายตั้งแต่แรก การขายที่ดินของโจทก์จึงไม่เกี่ยวกับโรงเรียนราษฎร์ ไม่เป็นกิจการของโรงเรียนราษฎร์ อันจะไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78ทวิ(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1200/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754
จำเลยที่ 1 กู้เงินมารดาโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันมารดาโจทก์ตายโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทเจ้ามรดกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้มิใช่สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องทายาทฟ้องคดีมรดก ต้องใช้อายุความทั่วไปกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 229
ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเพราะโจทก์ทิ้งฟ้องโจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่สั่งไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์เสียภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี การที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลเมื่อล่วงเลยอายุอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
โจทก์ฎีกาว่าเพื่อความยุติธรรม โจทก์มีทางชนะคดี ขอศาลฎีกาได้โปรดรับบัญชีระบุพยานโจทก์ ให้โจทก์มีโอกาสสืบพยานหรือให้ศาลฎีกาสั่งให้ดำเนินคดีใหม่ พิพากษาไปตามรูปคดี มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่โจทก์ประสงค์จะฎีกาขึ้นอ้างอิงในฎีกาแต่อย่างใดเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226
ศาลสืบผู้เสียหายได้เพียงตอบคำถามของโจทก์เสร็จเป็นเวลา16 นาฬิกา ทนายจำเลยขอเลื่อนครั้นถึงวันนัดและนัดต่อ ๆ มา ผู้เสียหายไม่มาศาล จนศาลต้องออกหมายจับ และสั่งตัดพยานปากผู้เสียหายโจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายต่อศาลและสืบพนักงานสอบสวนประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายคำเบิกความของพนักงานสอบสวนประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายตอนตอบคำถามของโจทก์ศาลรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172 - 1173/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
เดิมจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ตกลงจะไปโอนที่ดิน 3 แปลง ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทแปลงที่ 5 ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการใช้หนี้ให้ภายในกำหนด 5 วัน ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์จึงถูกผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมาโจทก์จัดการโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 5 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาตามยอมและจำเลยที่ 2 โอนต่อไปให้จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 จัดการโอนที่ดินพิพาทแปลงที่ 5 กลับคืนให้โจทก์อีกย่อมมีผลเท่ากับว่าโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาโดยฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา138 และมาตรา 145 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยเช่นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1171/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 9, 456 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 225, 249
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนขายบ้านให้โจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายบ้านโดยมีหลักฐาน เป็นหนังสือปรากฏว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น จำเลยที่ 2 พิมพ์ ลายนิ้วมือในสัญญาโดยมีพยานรับรองเพียงคนเดียวซึ่งการพิมพ์ลายนิ้วมือจะต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน จึงจะเสมอกับลงลายมือชื่อ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม ที่โจทก์ลงชื่อในสัญญาไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 ต้องถือว่าโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้ซื้อ จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ฝ่ายที่ต้องรับผิดส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้
โจทก์มีอำนาจฟ้องตามสัญญาจะซื้อจะขายได้หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา142(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 544 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 แล้วโอนสิทธิการเช่าให้ ลช. โดยจำเลยที่ 1 เห็นชอบและอนุมัติแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 เอาที่ดินรายเดียวกันให้จำเลยที่ 3 เช่า ดังนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เพราะขณะที่ฟ้องโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าให้ผู้อื่นไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1163/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287, 288
มารดาผู้ร้องยกบ้านให้ผู้ร้องในขณะที่ผู้ร้องอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้ร้องรื้อบ้านนั้นและขนย้ายเอามาปลูกขึ้นใหม่เป็นบ้านพิพาท ทั้งนี้ได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าซื้อไม้ฝาและสีทาเพิ่มเติม กับค่าตะปูและค่ารื้อถอนขนย้าย รวมทั้งค่าแรงปลูกสร้างด้วย โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้ร้องและจำเลยทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยา และเมื่อปลูกสร้างเสร็จผู้ร้องกับจำเลยก็อยู่ร่วมกันในบ้านพิพาทตลอดมาดังนี้ ถือว่าผู้ร้องและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในบ้านนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำยึดบ้านพิพาทส่วนของจำเลยได้ผู้ร้องมีสิทธิเพียงร้องขอกันส่วนของผู้ร้องเท่านั้นหามีสิทธิร้องขอให้ปล่อยบ้านพิพาทไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237
จำเลยกับ พ. จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและตกลงยกที่ดินพิพาทให้บุตรทั้งสอง ต่อมาจำเลยได้กู้เงินโจทก์ และนำโฉนดที่พิพาทดังกล่าวไปให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันดังนี้ ขณะจำเลยและ พ. ยกทรัพย์พิพาทให้บุตรทั้งสองโจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยโจทก์จึงไม่มีทางเสียเปรียบ