คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกเอาข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุผลคนละอย่างกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องฎีกาโจทก์จึงไม่เป็นฎีกาที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224
คดีฟ้องให้จดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 6
การกำหนดอัตราค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น คิดคำนวณจากทุนทรัพย์ตามฟ้อง มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118
โจทก์ไปติดต่อกู้เงินจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยนำรถยนต์พิพาทไปเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 3 ที่ 4 ตกลงโดยทำเป็นวิธีการให้โจทก์โอนขายรถยนต์พิพาทแก่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 ขายต่อไปยังจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทนั้นจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นวิธีการทางการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงแม้ว่าขณะโจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นยังไม่ได้มีการกรอกข้อความก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบถึงวิธีการทางการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ดีอยู่แล้วจึงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อได้หาใช่การไม่มีข้อความกรอกไว้ขณะโจทก์ลงชื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นนิติกรรมอำพรางไม่แม้ความประสงค์เดิมของโจทก์เป็นเรื่องต้องการกู้เงิน ไม่ใช่ต้องการได้รถยนต์พิพาทแต่เมื่อโจทก์ยอมทำนิติกรรมตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพื่อในที่สุดจะได้เงินตามที่ต้องการ ก็แสดงว่าโจทก์เปลี่ยนมายินยอมผูกพันตามนิติกรรมที่ทำขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713, 1734, 1737
เจ้าหนี้กองมรดกซึ่งมีผู้จัดการมรดกหรือทายาทของผู้ตายที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้อยู่แล้วจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2523
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2497 ม. 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4 บัญญัติว่า "นา"หมายถึงที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และคำว่า "พืชไร่" หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน
จำเลยปลูกพืชจำพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาด คะน้ามันเทศ ถั่วลิสง และมันแกวในที่พิพาท ไม่ได้ปลูกข้าวที่พิพาททั้งสี่ด้านมีต้นมะม่วงปลูกอยู่โดยรอบ ส่วนในที่พิพาทยกเป็นร่องในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่บนร่องปลูกต้นมันเทศบางร่องมีต้นถั่วฝักยาวปลูกอยู่ที่พิพาทมีคันดินทั้ง 4 ด้าน สูงเกินศีรษะทำไว้เพื่อกันน้ำท่วม แสดงว่าพืชที่จำเลยปลูกบนร่องเป็นพืชที่ไม่ต้องการให้น้ำท่วม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย พืชที่จำเลยปลูกจึงเป็นพืชไร่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 และที่ดินที่จำเลยปลูกพืชไร่ย่อมถือว่าเป็น "นา" ตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 857
จำเลยที่ 1 นำเช็ค 5 ฉบับ มาขายลดแก่ธนาคารโจทก์โดยได้นำเช็ค 5 ฉบับนี้เข้าบัญชีเดินสะพัดของตนแล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งธนาคารโจทก์จ่ายเงินเท่าจำนวนในเช็คที่นำเข้าบัญชีให้ ท. นำไปซื้อดราฟท์จากธนาคารอื่นส่งไปให้ผู้ออกเช็คเหล่านั้นต่อมาธนาคารโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค 5 ฉบับนั้นไม่ได้ธนาคารโจทก์ย่อมมีสิทธิเพิกถอนเช็คดังกล่าวเสียได้ตาม มาตรา 857
อายุความในการร้องทุกข์คดีอาญามีกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดถึงแม้ธนาคารโจทก์จะแจ้งเรื่องที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ทราบเป็นเวลาถึง 8-9 เดือนก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิร้องทุกข์ได้ เพราะเพิ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดและการฟ้องเรียกเงินตามเช็คในคดีแพ่งก็มีอายุความ 1 ปี ดังนี้ จะถือว่าธนาคารโจทก์ละเลยทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 369, 856, 857, 991 (1)
จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้นำเช็คซึ่งผู้อื่นเป็นผู้ออกมาขายลดให้โจทก์ โดยโจทก์ได้ส่วนลดหมื่นละยี่สิบบาท แม้ข้อตกลงซื้อขายลดเช็คระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่ปรากฏมีข้อสัญญาว่าหากเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้แล้วจำเลยที่1 จะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำเช็คพิพาทมาเข้าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเพื่อให้โจทก์เรียกเก็บเงิน โดยนำเช็คเข้าบัญชีในวันที่ลงในเช็คแล้วจำเลยออกเช็คสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้ตามจำนวนดังกล่าวจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลย และโจทก์ยอมจ่ายเงินไปก่อนโดยที่เช็คที่จำเลยนำมาเข้าบัญชียังเรียกเก็บเงินไม่ได้และโจทก์ได้ค่าธรรมเนียมเรียกว่าส่วนลดหมื่นละยี่สิบบาทเช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายเงินตามเช็คของจำเลยจากบัญชีเดินสะพัดไปแล้ว ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิจะเพิกถอนการลงรายการของเช็คดังกล่าวเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 857 และนำจำนวนเงินนั้นมาลงรายการว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 510 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 308
อธิบดีกรมบังคับคดีมีคำสั่งว่า การรับเงินจากการขายทอดตลาดให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินในการที่จะรับเช็คส่วนบุคคลหรือไม่แม้ในการประกาศขายทอดตลาดจะกำหนดให้ชำระเป็นเงินสดก่อน 15 น. ก็ตามแต่ก็หาได้หมายความว่าจะต้องชำระเป็นธนบัตรเสมอไปเมื่อผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินใช้ดุลพินิจรับเช็คส่วนตัวของโจทก์ไว้ แม้เลยเวลา15 น. ไปบ้างและต่อมาก็ได้ชำระเงินแล้ว จึงเป็นการกระทำโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118 - 1120/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 248
คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแม้ราคาทรัพย์พิพาทแต่ละสำนวนไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 248
จำเลยให้การว่าโจทก์สำนวนที่สองและสำนวนที่สามครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์สำนวนแรกเช่นนี้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าโจทก์เข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยการเช่าจาก ส. ซึ่งยกที่ดินให้โจทก์สำนวนแรกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225