คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 350
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ไม่จำต้องกระทำต่อเจ้าหนี้ของตนเท่านั้น แม้กระทำต่อเจ้าหนี้ของบุคคลอื่นก็มีความผิดฐานนี้ได้ และการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่ได้รับโอนจากบิดามารดาของตนซึ่งโจทก์จะขอเพิกถอนการโอนเพื่อบังคับชำระหนี้ต่อไปให้กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ก็อยู่ในความหมายแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ด้วย แม้ว่าการโอนที่ดินดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้หมดไปก็ตามก็เป็นความผิดฐานนี้ได้หากฟังได้ว่าจำเลยกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ กล่าวคือ กฎหมายมุ่งถึงเจตนาของจำเลยที่จะโกงเจ้าหนี้ โดยไม่คำนึงว่าสิทธิการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ที่มีต่อลูกหนี้ ของตนจะยังมีอยู่หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2522
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 8, 12, 40, 41, 121 (1), 123, 125
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างได้ทำความตกลงกันทำขึ้นมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ จึงมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่ที่ตกลงกัน
การที่นายจ้างเลิกกิจการไม่ทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง เมื่อข้อตกลงระบุว่าในกรณีนายจ้างจำเป็นต้องยุบหรือเลิกกิจการแผนกใด นายจ้างรับจะพิจารณาหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมให้ลูกจ้างแล้วนายจ้างยุบเลิกแผนกโดยไม่หาตำแหน่งใหม่ให้ลูกจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และเมื่อมีพฤติการณ์ฟังได้ว่า นายจ้างยุบเลิกแผนกส่งของเพื่อเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างในแผนกนี้หลายคนเป็นผู้นำในการยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่นายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121(1)อีกด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของลูกจ้างและสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 40,41 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1244/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 165 (1), 1002, 1005 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (2)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ต่อตัวถังรถยนต์ราคา 50,000 บาท จำเลยมอบเงินให้โจทก์ไปแล้ว 15,000 บาทที่เหลือ 35,000 บาท จำเลยชำระเป็นเช็ค แต่เช็คขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินค่าต่อตัวถังรถยนต์ที่ค้างชำระ ดังนี้ เป็นการฟ้องตามมูลสัญญาจ้างทำของกรณีต้องบังคับในเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้ตามมูลสัญญาจ้างทำของโจทก์จึงมีอำนาจขออนุญาตฟ้องที่ศาลซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
จำเลยได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์จำเลยเดินรถยนต์รับส่งคนโดยสารทับเส้นทางที่โจทก์ได้รับการอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา14เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์นำสืบค่าเสียหายแน่นอนไม่ได้ศาลกำหนดให้ตามที่โจทก์ได้รับจากผู้ที่นำรถมาร่วมรับส่งคนโดยสารกับโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 104 ประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
ภาษีการค้ากับภาษีเงินได้ ซึ่งไม่ได้ความว่าได้แจ้งการประเมินถึงผู้รับประเมินแล้ว ยังไม่เป็นหนี้แน่นอนไม่มีข้อโต้แย้ง อันจะฟ้องให้ล้มละลายได้ อำนาจยึดทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร ไม่ใช่บทบัญญัติว่าเป็นหนี้อันแน่นอน สิ่งที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์นำสืบอย่างเลื่อนลอยไม่แน่นอน ยังฟังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86, 90, 360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 ประมวลกฎหมายที่ดิน
ฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิด ได้ความว่าเป็นผู้ใช้ให้คนเอารถแทรกเตอร์ไปขุดดินทำลายสาธารณสมบัติของแผ่นดินลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำผิดไม่ได้ แต่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา360 ซึ่งเป็นบทหนักกว่าความผิดตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108 อันเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 349, 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88 ประมวลรัษฎากร ม. 118
จำเลยทำหนังสือให้โจทก์ไว้มีใจความว่า 'ข้าพเจ้านายศุภวัตรแก้วประดับได้ยืมเงินจากนายยีซบมูฮำหมัดจำนวน 130,000 บาท และจะชำระคืนให้ตามเช็คธนาคารชาร์เตอร์เลขที่ 917820 ซึ่งได้ให้ไว้เป็นการค้ำประกัน' แล้วลงลายมือชื่อไว้ ดังนี้ หนังสือนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามกฎหมายแล้ว
เช็คธนาคารชาร์เตอร์ฉบับดังกล่าวลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นวันสั่งจ่ายนั้น ถือว่าหนี้เงินยืมนั้นได้กำหนดวันชำระไว้แล้ว คือวันที่ลงในเช็คดังกล่าวนั้นเอง เมื่อเช็คถึงกำหนดแล้วโจทก์นำไปขึ้นเงินไม่ได้ย่อมถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย
การที่โจทก์รับเช็คของบุคคลอื่นไว้เป็นการค้ำประกันหนี้ นั้น ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์แห่งหนี้และเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิดตามหนี้นั้น
ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานและแจ้งวันกำหนดนัดสืบพยานให้โจทก์จำเลยทราบ หลังจากนั้นมีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์สองคราวนับตั้งแต่วันทำการชี้สองสถานเป็นต้นมาจนกระทั่งวันสืบพยานโจทก์ครั้งหลังสุดเป็นเวลา 2 เดือนเศษหากจำเลยมีความสนใจในคดีของตนตามสมควรย่อมมีเวลาที่จะตระเตรียมคดีได้เพียงพอ แต่จำเลยก็มิได้ยื่นบัญชีพยานเมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีพยานก็มีผลเท่ากับจำเลยไม่มีพยานจะนำสืบ จำเลยจะอ้างตนเองเข้าสืบย่อมไม่ได้ที่ศาลล่างไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยรับว่าได้ทำเอกสารการกู้ยืมแล้ว ย่อมไม่มีประเด็นเรื่องปิดอากรแสตมป์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าหุ้นส่วนทำไม้กับโจทก์ 39 รายถ้าทำไม้เสร็จรายใดก็คิดบัญชีกัน จำเลยไม่คิดบัญชีแบ่งผลกำไรจึงขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะต้องเลิกห้างหุ้นส่วนและไม่มีเหตุที่จะต้องชำระบัญชี ส่วนในเรื่องคิดบัญชีกันนั้น เป็นข้อพิพาทโต้เถียงกันในชั้นคิดบัญชีหลังจากทำไม้หุ้นส่วนเสร็จแล้ว โจทก์ชอบที่จะเสนอคดีอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์และไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยใช้เงินคืนจึงไม่วินิจฉัยข้อพิพาทโต้เถียงกันในชั้นคิดบัญชีให้ และพิพากษายกฟ้องโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกว่าผิดสัญญาหุ้นส่วนและไม่แบ่งผลกำไรขอให้ใช้เงินคืน ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ก็คือ โจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนทำไม้ด้วยกันและจำเลยไม่ยอมแบ่งกำไรซึ่งเป็นข้ออ้างเดียวกันกับที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีก่อน แม้ข้อหาของโจทก์ในคดีก่อนจะเป็นเรื่องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชี และข้อหาในคดีนี้เป็นเรื่องให้ใช้เงินคืนก็ตาม ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก็สืบเนื่องมาจากมูลฐานและข้ออ้างเดียวกันคือ โจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วนทำไม้กันหรือไม่ โจทก์ชอบที่จะเสนอข้อหาดังกล่าวรวมไปในฟ้องในคราวเดียวกัน แต่โจทก์มิได้กระทำโดยเลี่ยงไม่ยอมเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ศาลฎีกาในคดีก่อนจึงไม่รับวินิจฉัยข้อหาเรื่องนี้ให้ การที่โจทก์มารื้อร้องฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกโดยอาศัยมูลฟ้องและข้ออ้างเดียวกันจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
การที่จะฟ้องใหม่ได้ตามมาตรา 148(3) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลในคดีก่อนอนุญาตไว้ในคำพิพากษา มิใช่ถ้าคำพิพากษาในคดีก่อนไม่ได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่ากล่าวอีกแล้ว โจทก์จะฟ้องได้ มิฉะนั้นบทบัญญัติเรื่องห้ามฟ้องซ้ำที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกของมาตรานี้ย่อมไร้ผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406
จำเลยชนะคดีที่ฟ้องขับไล่ ส. ได้รับเงินที่ ส. กับผู้รับมรดกความของ ส. อันเป็นค่าเสียหายระหว่างคดีเดือนละ 100 บาท ไปรวม 8,700 บาทโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอีกเรื่องหนึ่งว่าที่ดินเป็นของโจทก์โดยครอบครองปรปักษ์เงินที่จำเลยรับไปจากศาลเป็นเงินที่รับไปโดยมีมูลตามกฎหมายไม่ใช่ลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2522
พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ม. , ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11
ความผิดในเรื่องมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาตเกิดขึ้นในตัวทันใดที่กรรมเรื่องซื้ออาวุธปืนได้สำเร็จลงแล้วนั่นเองการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเพราะจำเลยมีเจตนาที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองอยู่ขณะซื้อแล้ว