คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2522

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ม. , ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11

ความผิดในเรื่องมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาตเกิดขึ้นในตัวทันใดที่กรรมเรื่องซื้ออาวุธปืนได้สำเร็จลงแล้วนั่นเองการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเพราะจำเลยมีเจตนาที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองอยู่ขณะซื้อแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1529, 1530 (3), 1536 เดิม, 1555, 1556, 1557 (3), 1564 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 29, 55, 249

โจทก์อยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนและมีบุตรด้วยกัน โจทก์ซึ่งเป็นมารดามีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรผู้เยาว์รวมเข้ามาในคดีเดียวกับที่ขอให้จำเลยรับรองบุตรได้ ไม่ต้องฟ้องขอให้รับรองบุตรจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อน

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรถึงที่สุดส่วนค่าเลี้ยงดูที่โจทก์จ่ายไปตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกร้างกับโจทก์จนถึงวันฟ้องนั้นบังคับให้ไม่ได้

ในชั้นศาลอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้เรื่องฟ้องเคลือบคลุม จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นฎีกาจึงเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2522

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 20

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือพืชไร่ประจำปีในนาที่เช่าได้โดยผู้ให้เช่านาจะเรียกเก็บค่าเช่านาเพิ่มมิได้ คำว่าพืชอายุสั้นมิได้หมายความถึงข้าว การทำนาปรังเป็นการเพาะปลูกข้าวเช่นเดียวกับการทำนาปี เมื่อจำเลยทำนาปรังในนาที่เช่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2522

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 41 (4), 121, 160 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แม้จะได้ทำกันไว้ก่อนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ใช้บังคับก็เป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 160วรรคสอง

การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่ได้กระทำความผิด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46 นั้น เป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งนายจ้างจะต้องปฏิบัติมิใช่เป็นเรื่องตกลงประนีประนอมยอมความ และเป็นคนละกรณีกับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา41(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 163, 1350

ที่ดินแบ่งแยกออกเป็นหลายแปลง เจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกเคยเดินผ่านที่ดินเดิมผ่านที่ดินที่ล้อมไปออกทางสาธารณะ เมื่อแบ่งแยกแล้วก็ยังใช้ทางผ่านที่ดินเดิมได้ตาม มาตรา1350 กรณีเช่นนี้ฟ้องขอให้เปิดทางเมื่อใดก็ได้ ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 156

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาแล้วผู้ร้องขอไม่พอใจคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้วได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขอที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ หรือยื่นคำร้องขอศาลชั้นต้นนั้นพิจารณาคำฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ได้ แต่เป็นการให้สิทธิเลือกวิธีดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวจำเลยแพ้คดีในศาลชั้นต้นได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวน แล้วมีคำสั่งยกคำขอ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลา ดังนี้จำเลยเลือกเอาการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งเสียแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 144, 148, 845

จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินให้ สัญญาจะให้ค่านายหน้าแก่โจทก์สองจำนวน คือ ถ้าโจทก์ขายได้ราคาเกินกว่า3,500,000 บาท ส่วนที่เกินนั้นเป็นของโจทก์จำนวนหนึ่งกับบำเหน็จร้อยละ 5 ของราคา 3,500,000 บาทอีกจำนวนหนึ่งโจทก์ได้ชี้ช่องให้จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับผู้ซื้อแล้วในราคา 5,000,000 บาท เช่นนี้ถือได้ว่าได้มีการทำสัญญากันเป็นผลสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการแล้ว แม้จำเลยจะตกลงเลิกสัญญากับผู้จะซื้อในภายหลัง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ดิน 3,500,000 บาทจากจำเลย ส่วนเงิน 1,500,000 บาทอีกจำนวนหนึ่งนั้นเป็นข้อตกลงพิเศษอีกส่วนหนึ่งต่างหากแยกจากกันได้กับข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ค่าบำเหน็จส่วนนี้คู่สัญญาตกลงกันว่าถ้าโจทก์ขายได้สูงกว่านั้นก็ให้โจทก์รับไป ย่อมมีความหมายว่าหากมีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอันเป็นผลจากที่โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องหรือจัดการ กรณีนี้คู่กรณีตกลงเลิกสัญญากันหาได้มีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินส่วนเกินนั้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 812

จำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาวรจักรของโจทก์ ในการจ่ายเงินล่วงหน้าหรือให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีนั้น จะต้องมีดอกเบี้ยและเรียกหลักประกัน เช่นการรับจำนำหรือรับจำนอง แต่จำเลยให้ ซ.และฬ. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ได้เรียกหลักประกันไว้ ครั้น ซ. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกร้องเอาจาก ซ. ส่วนฬ. ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โจทก์ไม่สามารถติดตามให้ชำระหนี้ได้ ถ้าจำเลยเรียกหลักประกันไว้จากบุคคลทั้งสองนี้โจทก์จะไม่เสียหาย การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลทั้งสองนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่เรียกหลักประกันอันเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 113, 114 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 3

คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกการถอนโอนและการฉ้อฉลซึ่งผลของการที่ขอให้เพิกถอนมีแต่เพียงให้ทรัพย์กลับคืนมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิมเท่านั้นหาได้มีการเรียกร้องทรัพย์หรือขอให้ได้รับประโยชน์เพื่มขึ้นอย่างไรไม่จึงถือว่าเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หาต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่

เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนค่าขึ้นศาลที่จะต้องเสียอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านหากเห็นสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2522

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

จำเลยนำอาวุธปืนและกระสุนปืนไปขอรับอนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้ว แต่จำเลยยังมิได้ไปขอรับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต พระราชบัญญัติไม่ได้กำหนดเวลาเท่าใดไว้ จึงไม่เป็นความผิด

« »
ติดต่อเราทาง LINE