คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90
การใช้เอกสารปลอมตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268เป็นความผิดที่ต้องลงโทษตาม มาตรา 264, 265, 266 หรือ 267คำพิพากษาลงโทษ ต้องระบุ มาตรา 268 ประกอบด้วย มาตรา 265
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2522
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517
คณะกรรมการควบคุมการเช่านาฯ กำหนดอัตราค่าเช่านาเกินกว่าที่เคยเก็บอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับไม่ได้ คือเกินไร่ละ 10 ถังตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติฉบับก่อนที่ถูกพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยกเลิกไปไม่ได้
ผู้เช่านาทำนาปรังนอกฤดูทำนาปกติ คณะกรรมการควบคุมการเช่านากำหนดให้ผู้ให้เช่าเก็บค่าเช่าอีกได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 17, 20
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18, 420
โจทก์เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ได้ใช้นาม 'คริสเตียนดีออร์' และ 'ดีออร์' แพร่หลายรวมทั้งในประเทศไทยเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าจำเลยไม่มีสิทธิเอาคำว่า 'ดีออร์' ไปใช้ประกอบเป็นนามของตน ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้คำว่า 'ดีออร์' ประกอบชื่อร้านค้าของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 1469, 1514, 1526, 1598/40
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญายอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและจำเลยยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูให้โจทก์ 50,000 บาท ปรากฏในบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพ บันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นทั้งสัญญาหย่าและสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เมื่อหย่ากันแล้ว และคู่กรณีอาจตกลงกันให้ชำระค่าเลี้ยงชีพครั้งเดียว เป็นจำนวนเงินตามที่ตกลงกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพ 50,000 บาทให้โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้นั้น
สัญญาที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 50,000 บาทนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ซึ่งหมายถึงเงินเลี้ยงชีพหลังจากที่ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแล้ว จึงไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างเป็นสามีภรรยากันตามมาตรา 1469 จำเลยไม่มีสิทธิอ้างมาตรานั้นมาเป็นเหตุบอกล้างสัญญานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
สัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ระบุ โจทก์ยอมถอนคดีอาญาเรื่องเช็คใน 7 วัน เป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ยังไม่ถอนฟ้อง จำเลยก็ยังไม่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ โจทก์จึงยังบังคับคดียึดทรัพย์ไม่ได้ศาลให้ถอนการยึดแต่เมื่อโจทก์ถอนคดีตามยอมแล้วโจทก์ก็ขอให้บังคับคดียึดทรัพย์ได้ ไม่ใช่ออกหมายบังคับคดีซ้ำหรือฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 136, 229, 231, 251
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ มาวางศาลพร้อมกับนำเงินค่าเสียหายที่จะต้องชำระตามคำพิพากษามาวางศาลตามคำสั่ง เพื่อให้ศาลอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ในระหว่างอุทธรณ์นั้น ถือได้ว่า เงินค่าทนายความที่จำเลยวางเป็นเงินค่าธรรมเนียมที่วางไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ส่วนเงินค่าเสียหายเป็นเงินที่วางตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับคดี เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้ว เหตุแห่งการวางเงินดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไป และไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาล ยึดเงินที่วางไว้ในกรณีดังกล่าวต่อไปได้ศาลจึงชอบที่จะคืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย ส่วนการที่ต่อมา ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่พิพาทพร้อมกับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ก็เป็นคำพิพากษาใหม่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเงินที่จำเลยได้วางไว้ในกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)
จำเลยใช้คนขับรถยนต์บรรทุกดินบุกรุกผ่านที่ดินของโจทก์ร่วมไปถมที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2),84 อันเป็นความผิดต่อกรรมสิทธิ์ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นผู้เสียหาย ร้องทุกข์และฟ้องได้แม้ที่ดินนั้นจะมีผู้เช่าทำนาอยู่ก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 126, 127
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยจะผ่อนชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยแก้ตัวเลขปีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจาก 2521 เป็น 2520 และลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย เพราะโจทก์กับพวกขู่ว่า หากจำเลยไม่แก้ โจทก์จะเอาเช็คที่จำเลยออกให้แก่ ผู้อื่น ซึ่งมาตกอยู่ในครอบครองของโจทก์ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยฐานออกเช็คไม่มีเงิน ดังนี้ การขู่ของโจทก์เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 127 ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ การที่จำเลยแก้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ และมีผลใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1332/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ระหว่างส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นโจทก์และจำเลยร่วมกันยื่นคำร้องว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันได้แล้ว โดยจำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ 30,000 บาท ภายใน 3 ปี ขอให้ศาลเรียกสำนวนคืนมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ในนัดต่อ ๆ มาปรากฏว่าโจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันไม่ได้ศาลได้ดำเนินการพิจารณาต่อมา ดังนี้ คำร้องดังกล่าวหาเป็นการผูกพันโจทก์ไม่ศาลจะถือว่าได้สละประเด็นอื่น ๆ ทั้งสิ้นแล้วจึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 30,000 บาท ในกำหนด 3 ปี หาได้ไม่ 2 หมายเหตุ มาจากสหกรณ์ขาดข้อมูลหลักกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 226
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีผลเป็นการงดสืบพยานจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ถ้าไม่โต้แย้งไว้ อุทธรณ์ไม่ได้