คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีเดิม จึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อฟ้องร้องกัน อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367

ที่ดินซึ่งโจทก์จำเลยต่างมี ส.ค.1 และแย่งกันครอบครองมาจนไม่รู้ว่าใครครอบครองตอนใดส่วนใด ศาลแบ่งให้คนละครึ่ง และเมื่อไม่ปรากฏว่าผลทุเรียนและน้ำยางเกิดจากต้นไม้ที่โจทก์ปลูกทำไว้โดยเฉพาะ โจทก์เรียกค่าเสียหายที่จำเลยตัดเอาไปไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 916 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 1

ผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คผู้ถือต้องรับผิดต่อผู้ถือซึ่งเป็นผู้ทรงเมื่อไม่มีข้อต่อสู้ว่าผู้ทรงรับโอนโดยไม่สุจริตอย่างใดก็ไม่มีข้อที่ต้องสืบพยาน อุทธรณ์ฎีกาขอให้สืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ เป็นคำขอไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 458, 463, 610, 627

ผู้ขายนำสินค้าไปส่งมอบแก่จำเลยผู้รับขนเพื่อส่งให้โจทก์ผู้ซื้อ โจทก์เป็นผู้รับตราส่งสินค้ารายพิพาท ไม่ใช่ผู้ส่งหรือผู้ตราส่ง จึงมิใช่คู่สัญญารับขน สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่สัญญารับขนจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 คือเมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว แต่สินค้ารายพิพาทนี้มิได้ไปถึงตำบลที่กำหนดให้ส่ง โดยได้สูญหายไปเสียก่อนในระหว่างการขนส่ง โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งให้ส่งมอบสินค้าได้ สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้น จึงไม่อาจจะตกไปได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งตามมาตรา 627 โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญารับขนพิพาทได้

การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 463 นั้น มิใช่เป็นข้อวินิจฉัยว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เพราะการส่งมอบเป็นเพียงหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ขายเท่านั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 458 และจะยกเอาบทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ซื้ออันเกิดแต่สัญญารับขนไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดก็ต้องใช้กฎหมายลักษณะนั้นบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 407, 411, 654 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ไปร้อยละ 2 ต่อเดือน แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน

คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องทายาทของผู้กู้(ซึ่งถึงแก่กรรม)เรียกต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่วันค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคือวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 ทายาทยอมใช้เงินต้นที่ค้างและดอกเบี้ยตามฟ้อง ต่อมาทายาททราบว่าจำเลยได้รับชำระดอกเบี้ยไปก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 จำนวนหนึ่งแล้ว จึงฟ้องเรียกเงินนั้นคืน ดังนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะมิใช่เป็นคดีที่มีประเด็นอย่างเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386

กำหนดเวลาทำสัญญาซื้อขายใน 7 วัน นับแต่วันในสัญญาจองที่ดิน แต่หลังจากนั้นผู้ขายยังขอย้ายผู้ซื้อเข้าอยู่บ้านอื่นและให้ผู้ซื้อทำใบมอบอำนาจรับโอนและจำนองที่ดินอีก ไม่เป็นการถือวันที่กำหนดตามสัญญาจองเป็นสำคัญ ผู้ขายถือเป็นเหตุเลิกสัญญาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727 - 1728/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 163, 165 (1), 583, 588, 602

การที่ผู้รับจ้างทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยมิได้อยู่ในความควบคุมของผู้ว่าจ้าง เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับใช้ทำการติดตั้งให้สำเร็จผู้รับจ้างก็เป็นผู้จัดหา เมื่อติดตั้งสำเร็จแล้วจะได้สินจ้างจากผู้ว่าจ้างนั้น เป็นการจ้างทำของ และแม้การติดตั้งเครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะได้ติดตั้งในโรงแรมของผู้ว่าจ้าง ก็ไม่ใช่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของผู้ว่าจ้าง เพราะคำว่า "อุตสาหกรรม" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)ตอนท้ายนั้นหมายถึงการประดิษฐ์หรือผลิตหรือทำสิ่งของขึ้นให้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายขายสินค้านั้น ๆ ไป การติดตั้งเครื่องปรับอากาศเป็นเพียงเพื่อปล่อยความเย็นเข้าไปในห้องหรือสถานที่ของโรงแรมเท่านั้น หาได้มีการประดิษฐ์หรือผลิตหรือทำสิ่งของขึ้นจากเครื่องปรับอากาศให้เป็นสินค้าหรือจำหน่ายขายสินค้านั้น ๆ ไปไม่ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างติดตั้งเครื่องปรับอากาศดังกล่าวจึงมีกำหนด 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 136, 326, 328, 329

บุตรจำเลยถูกตำรวจจับข้อหาขับรถจักรยานยนต์ไม่มีใบขับขี่ไม่เสียภาษีขับรถเป็นที่น่าหวาดเสียว และรถถูกยึดไปไว้ที่สถานีตำรวจ จำเลยไปติดต่อกับโจทก์ซึ่งเป็นสารวัตรจราจร เพื่อขอรับรถคืน โจทก์เป็นเจ้าพนักงานที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่บุตรจำเลยต้องหา แทนที่จะพูดให้จำเลยเข้าใจ กลับพูดแรงไป การที่จำเลยส่งข้อความไปลงหนังสือพิมพ์ถึงอธิบดีกรมตำรวจซึ่งเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ มีใจความเป็นการแสดงความเสียใจน้อยใจของจำเลย และขอร้องให้ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจสอดส่องตักเตือนตำรวจให้พูดจาแนะนำประชาชนในสิ่งที่ประชาชนไม่รู้อย่างสุภาพ เพื่อให้ตำรวจเข้ากับประชาชนได้ จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และจำเลยลงข้อความนั้นโดยสุจริตตามเรื่องที่เกิดแก่จำเลย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192

ฟ้องว่าวิ่งราวทรัพย์ ไม่ปรากฏเหตุฉกรรจ์ เป็นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ได้ความว่าลักทรัพย์ลงโทษตาม มาตรา 335(7) ลักทรัพย์โดยมีอาวุธไม่ได้ ทั้ง มาตรา335(7)มีโทษหนักกว่า มาตรา 336 วรรคแรก ศาลลงโทษตาม มาตรา334

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1741/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1361

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งทำสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดไปโดยพลการ สัญญานั้นย่อมไม่ผูกพัน และไม่มีผลให้เจ้าของรวมคนอื่นต้องขายส่วนของตนด้วย จึงไม่เป็นการทำสัญญาและรับเงินแทนเจ้าของรวมคนอื่น ซึ่งไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งเงินมัดจำ และจำเลยไม่ต้องมอบเงินดังกล่าวแก่เจ้าของรวม การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานยักยอก

« »
ติดต่อเราทาง LINE