คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1813/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79, 199 วรรคแรก
แม้สัญญาประกันผู้ต้องหาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 172 ซอยสุวรรณสวัสดิ์ฯลฯ ก็ตาม แต่ต่อมาจำเลยได้ย้ายจากภูมิลำเนาเดิมไปอยู่บ้านเลขที่ 633 ถนนสุขุมวิท ฯลฯ แล้ว และปรากฏจากการติดต่อนัดส่งตัวผู้ต้องหาระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทราบถึงภูมิลำเนาใหม่ของจำเลยแล้วด้วยเช่นนี้ การที่โจทก์ฟ้องโดยระบุว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 172 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม จึงมิใช่ภูมิลำเนาจำเลย ครั้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ โจทก์ก็แถลงศาลว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด เป็นเหตุให้ศาลเชื่อสั่งให้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์แทน จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 จะถือว่าจำเลยทราบการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วไม่ได้ จำเลยไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การขอให้พิจารณาใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2
จำเลยมีอาวุธปืนไม่รับใบอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯปล้นทรัพย์และถูกจับพร้อมด้วยปืนระหว่างนั้นกฎหมายให้ไปขอรับใบอนุญาตได้ เป็นกฎหมายยกเว้นโทษจำเลยไม่ต้องรับโทษตาม มาตรา3 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2)
การถอนคำร้องทุกข์ที่จะทำให้คดีระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) นั้นต้องเป็นการถอนโดยเจตนาที่จะไม่เอาความแก่จำเลยอีกต่อไป แต่การที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์โดยเหตุที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแล้ว ไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานของโจทก์อีก จึงคงระงับไปแต่เฉพาะเรื่องการร้องทุกข์ ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลไว้แล้วนั้นหาระงับไปไม่ ศาลย่อมดำเนินคดีต่อไปได้ เสมือนว่าไม่มีการร้องทุกข์มาก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 182
คำท้าซึ่งคู่ความตกลงกันแล้วรังวัดไม่เสร็จตามนั้นเพราะคู่ความขัดแย้งกัน ศาลชั้นต้นนัดคู่ความมาอธิบายคำท้า จำเลยไม่มาศาลชั้นต้นเปลี่ยนข้อความโดยเห็นว่าเป็นเจตนาแท้จริงของคู่ความแต่จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน ดังนี้ ต้องถือตามคำท้าเดิม เปลี่ยนแปลงโดยจำเลยไม่ตกลงด้วยไม่ได้ เมื่อรังวัดตามนั้นไม่ได้ก็ต้องยกเลิกคำท้า และพิจารณาคดีไปตามวิธีพิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
ฟ้องว่าจำเลยเมาสุราประพฤติวุ่นวาย ตำรวจจับจำเลยจำเลยต่อสู้และทำร้ายตำรวจผู้กระทำการตามหน้าที่ ได้ความว่าจำเลยไม่เมาสุราแต่ไม่ยอมเสียค่าเข้าดูภาพยนตร์ตำรวจขอค้นเป้จำเลยไม่ยอมให้ค้นแล้วทำร้ายตำรวจ จึงไม่ใช่การที่ตำรวจทำการตามหน้าที่ตามฟ้อง ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226
ผู้เสียหายในคดีข่มขืนชำเราให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่โจทก์นำมาเบิกความในชั้นศาลไม่ได้เพราะไปจากบ้านหาตัวไม่พบ ศาลรับฟังประกอบกับพยานโจทก์และคำรับของจำเลยชั้นสอบสวนลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1491 เดิม ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519
ชายมีปืนขู่พาหญิงไปร่วมประเวณีและจดทะเบียนสมรส หญิงเพิกถอนได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1491 วรรค2 เดิม ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ การฟ้องคดีเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมไปในตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2522
ประมวลรัษฎากร ม. 65 ตรี (3), 65 ตรี (4), 65 ตรี (9), 65 ตรี (13)
โจทก์ประกอบกิจการผูกขาดการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยรับมอบหมายจากเทศบาลนครกรุงเทพ โจทก์ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ จำนวนเงินและกำหนดเวลาที่จะจ่ายก็ไม่แน่นอน โจทก์ตั้งเงินค่าตอบแทนไว้ในบัญชีเป็นเงินค้างจ่ายให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเมื่อถูกทวงถามให้ชำระ โจทก์มีหนังสือตอบไปว่า ยังไม่อาจจ่ายให้ได้เนื่องจากผลการขาดทุนเมื่อมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้นก็จะจ่ายให้ต่อไป อันเป็นการผัดชำระหนี้โดยไม่มีกำหนดเวลาและเทศบาลทั้งสองแห่งก็ไม่ได้ดำเนินการบังคับเอาชำระหนี้แต่อย่างใดอีก แสดงว่าโจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของโจทก์ฝ่ายเดียว เงินค่าตอบแทน ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9)(13)
ค่าใช้จ่ายของโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการจ่ายตามประเพณีนิยมของการดำเนินกิจการค้านั้น ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นการให้ของขวัญ ของชำร่วย จัดช่วยเหลือในงานเลี้ยง อันมีจุดประสงค์ในการจ่ายเพื่อประโยชน์บุคคลบางคน ไม่ได้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการค้าโดยเฉพาะ โจทก์ทำการค้าตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยบารมีหรืออิทธิพลของบุคคลอื่นใด จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
เงินค่ารับรองซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่เกินสมควรเพราะไม่ถึงร้อยละหนึ่งของรายได้โจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์จ่ายเงินแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากโดยไม่ปรากฏว่าบุคคลที่รับเงินไปปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการใดให้โจทก์ จึงเป็นค่ารับรองที่เกินสมควร ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
จำเลยขับรถบรรทุกน้ำมันยอมให้รถที่ตามมาแซงขึ้นแล้วแต่ยังแซงไม่พ้น จำเลยกลับแข่งและกินทางเข้าไปในทางรถที่แซง จึงเฉี่ยวกันจำเลยประมาทเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 29,66 ซึ่ง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4),157 ยังเป็นผิด แต่โทษสูงกว่า ลงโทษตาม พระราชบัญญัติเดิม เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 190 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 83
ตำรวจบอกให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยลำพังเพราะรู้จักจำเลยดี ยังไม่ถูกจับและควบคุม ยังไม่มีการหลบหนีตามมาตรา190