คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1851/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18
หญิงอายุมากแล้ว ทำผิดฐานส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยขั้นแรกไม่ยอมร่วมมือ แต่ถูกชักจูงว่าจะให้ส่วนแบ่งจึงร่วมมือโดยความโง่เขลา ศาลลงโทษเบาลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2522
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 7, 9
มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ ที่ห้ามมิให้ผู้ว่าคดีฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการนั้น หมายความว่าเมื่อมีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังผู้ว่าคดีเพื่อให้ผู้ว่าคดียื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ เมื่อไม่มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาดังเช่นคดีนี้ จุดเริ่มต้นที่จะนับเวลา 72 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับย่อมไม่มี และไม่จำต้องขอผัดฟ้องต่อไป กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 9 โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 538, 569
สัญญาต่างตอบแทนเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดเพียงบุคคลสิทธิ มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น คือผู้ที่เป็นคู่สัญญาเดิมกับจำเลย จะไปผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนและมิได้ยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นด้วยหาได้ไม่ และเมื่อเจ้าของเดิมตกลงยอมให้จำเลยเช่าต่อไปอีก 5 ปีด้วยวาจา จำเลยก็จะอ้างประโยชน์ตามมาตรา 569 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ โจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาทย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 421, 449, 1337, 1341
ตึกของโจทก์และจำเลยอยู่ห่างกัน 2 เมตร 50 เซนติเมตรช่องว่างระหว่างตึกเป็นที่ดินของจำเลย จำเลยจึงชอบที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยได้ การที่ฝาผนังตึกของโจทก์ชิดกับเขตที่ดินของจำเลยนี้ โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าฝาผนังตึกของโจทก์ต้องมีสภาพเป็นกำแพงรั้วกั้นเขตที่ดินโจทก์และจำเลย เป็นธรรมดาที่การวางสิ่งของของจำเลยในที่ดินของจำเลยอาจจะไปติดกับฝาผนังตึกของโจทก์ได้ การที่จำเลยใช้ประโยชน์จากฝาผนังตึกนี้โดยไม่ปรากฏว่าทำให้โจทก์เสียหายประการใด จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์
เมื่อฝาผนังตึกของโจทก์สูงกว่าอาคารของจำเลย จึงเป็นธรรมดาที่น้ำฝนจากหลังคาและฝาผนังตึกของโจทก์ย่อมจะไหลลงไปสู่ทรัพย์สินของจำเลย ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายโจทก์จะต้องจัดการป้องกันหรือแก้ไข แต่โจทก์มิได้จัดการฉะนั้น การที่จำเลยพอกปูนซีเมนต์เชื่อมหลังคาของจำเลยกับผนังตึกของโจทก์จึงเป็นการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่จำเลย หาใช่จำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ประการใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304
ที่ดินซึ่งน้ำทะเลท่วมถึงเป็นที่ชายตลิ่ง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่อาจได้ สิทธิครอบครอง จำเลยจึงมิได้อาศัยสิทธิครอบครองของโจทก์ทำประโยชน์ในที่พิพาท จำเลยครอบครอง โจทก์ขับไล่ไม่ได้เมื่อโจทก์มิได้เสียหายพิเศษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1841/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 22 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
ความผิดฐานออกเช็คไม่มีเงินจ่าย ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2497 มาตรา 3 เกิดเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร แม้ออกเช็คที่ปทุมธานี โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 340 วรรคแรก, 340 ตรี, 339
จำเลยเข้าชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย แล้วแย่งเอากระเป๋าถือของผู้เสียหายวิ่งไปขึ้นรถแทกซี่ซึ่งจอดรออยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 15 เมตร ในรถมีคนนั่งรออยู่ 2 คน คือคนขับรถและอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งกายเป็นสตรี การที่คนแต่งกายเป็นสตรีนั่งรอจำเลยอยู่ในรถแท็กซี่ของกลางพร้อมคนขับใกล้ชิดกับที่เกิดเหตุ เฝ้าดูการกระทำของจำเลยตลอดเวลา และหนีไปพร้อมกับจำเลยหลังเกิดเหตุ ทั้งเมื่อพยานโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ติดตามเข้าไปใกล้จำเลยและคนแต่งกายเป็นสตรีหันมามองพยานโจทก์ แสดงถึงความไม่พอใจที่มีคนติดตามมานั้น พฤติการณ์บ่งชัดว่าคนแต่งกายเป็นสตรีคน ขับรถ และจำเลยรู้เห็นคบคิดร่วมกันมาก่อนคนแต่งกายเป็นสตรีจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย จำเลยต้องมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี เป็นเหตุให้รับโทษหนักขึ้นมิใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากศาลลงโทษจำเลยตาม มาตรา 340 ตรีซึ่งเป็นบทหนักเท่านั้นไม่ได้ต้องลงโทษตาม มาตรา 340,340 ตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 222, 354, 361, 366 วรรคสอง
โจทก์ประกาศประกวดราคาจัดซื้อของ เป็นคำเชิญชวนให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าประกวดราคายื่นซองเสนอหนังสือเสนอราคาที่จำเลยยื่นเป็นคำเสนอ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าตกลงรับราคาที่จำเลยเสนอและให้ไปทำสัญญาเป็นคำสนอง แต่สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้นเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ สัญญาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือตามข้อผูกพันที่ระบุไว้ในประกาศประกวดราคา จำเลยไม่ไปทำสัญญากับโจทก์ตามกำหนดเวลา โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำซองประกวดราคาได้ตามข้อตกลงในประกาศประกวดราคา แต่เมื่อยังไม่มีสัญญาซื้อขายต่อกันจำเลยยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาซื้อขายที่จะต้องมอบของให้โจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อของจากผู้อื่นแพงกว่าราคาที่จำเลยเสนอเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากข้อตกลงในการประกวดราคา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลจำต้องถือตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น คือข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดของอาญาที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดในทางแพ่งโดยอาศัยมูลคดีอาญาในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง
โจทก์ฟ้องคดีแพ่งก่อนคดีอาญา ตั้งประเด็นว่ามีสัญญาต่างตอบแทนในเรื่องการใช้ถนนร่วมกันระหว่างโจทก์จำเลยแต่จำเลยทำผิดสัญญา และกระทำละเมิด จึงขอให้ปฏิบัติตามสัญญาและใช้ค่าเสียหาย ทั้งยื่นคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาชั้นไต่สวนคำร้อง เมื่อจำเลยเบิกความว่าไม่มีข้อตกลงในการใช้ถนนร่วมกัน โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่าเบิกความเท็จในเรื่องนี้ แม้ข้อนำสืบในคดีแพ่งและคดีอาญา จะเป็นเรื่องเดียวกันว่ามีข้อตกลงกันอย่างไรจริงหรือไม่ก็ตาม ก็เห็นได้ว่ารูปคดีเช่นนี้หาใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่ฟ้องโดยอาศัยมูลคดีอาญาโดยตรงไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46