คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1482 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 282
หนี้ที่ภริยากู้เงินมาให้สามีใช้สอยในครัวเรือนโดยสามีรู้เห็นยินยอม เป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูในครอบครัวอันเป็นหนี้ร่วมตาม มาตรา 1482(1) โจทก์ยึดบ้านซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องบังคับคดีได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่าและแบ่งทรัพย์โดยสมยอมหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 430, 438, 442 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 245, 249
หลานอายุ 13 ปีมาพักเรียนหนังสืออยู่กับตายายๆ เป็นผู้ดูแลต้องรับผิดฐานละเมิดร่วมกับหลานตาม มาตรา 430
ค่ารักษาพยาบาลบุตรซึ่งโจทก์เป็นข้าราชการเบิกจากทางราชการได้ครึ่งหนึ่ง ศาลให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าที่โจทก์เสียไปจริงเพียงครึ่งหนึ่ง
บิดาไม่ดูแลบุตรอายุ 4 ขวบ ปล่อยให้ไปเล่นในบริเวณที่เด็กเล่นไม้หึ่งจนได้รับอันตราย เป็นความผิดของบิดารวมอยู่ด้วย ศาลลดค่าเสียหายที่ผู้ทำละเมิดต้องใช้ลงได้
ค่าเสียหายฐานละเมิดซึ่งเด็กและผู้ดูแลเด็กต้องรับผิดร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยผู้เดียวฎีกา ศาลพิพากษาลดจำนวนลงแก่จำเลยที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้
ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาทเพราะผู้เสียหายตาบอด จำเลยอุทธรณ์ไม่คัดค้านว่าตาไม่บอดจำเลยฎีกาว่าตาไม่บอดไม่ได้ ศาลจึงไม่ต้องพิจารณาว่าค่าเสียหายเพราะตาบอดจำนวน 10,000 บาทนั้นมากเกินไปหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1988/2518
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474
โจทก์ผลิตขนมชนิดต่างๆ ออกจำหน่าย ใช้คำประดิษฐ์ ไกวไกว เป็นเครื่องหมายการค้ามาก่อนจำเลย และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่างๆหลายประเทศแล้ว จำเลยเพิ่งเริ่มผลิตขนมอย่างเดียวกับขนมของโจทก์ออกจำหน่ายทีหลัง และใช้เครื่องหมายการค้าว่า ไกวไกว เช่นเดียวกับโจทก์ ซองที่ใช้บรรจุขนมก็เลียนแบบซองบรรจุขนมของโจทก์ ทั้งคำประดิษฐ์ ไกวไกว ก็ไม่ใช่คำสามัญเช่นนี้ จำเลยเลียนแบบสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1789 - 1790/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 420
วันเกิดเหตุได้มีควันไฟอันเกิดจากไฟไหม้เศษปอในบ่อของโรงงานกระสอบของจำเลยซึ่งอยู่ห่างถนนพหลโยธินตรงที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร แล้วกลุ่มควันไฟดังกล่าวถูกลมพัดลอยไปครอบคลุมผิวจราจรบนถนนพหลโยธินบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่ขับมาถึงที่เกิดเหตุพอดีต่างไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ จึงเกิดชนกันขึ้น รถโจทก์ถูกรถคันอื่นชนท้ายรถ แล้วรถโจทก์ได้ไปชนรถบรรทุก 10 ล้อ รถโจทก์เสียหายทั้งคัน โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ที่บ่อของโรงงานกระสอบของจำเลยได้มีการเผาเศษปออันเป็นกิจการของจำเลยโดยเป็นหน้าที่ ห. ซึ่งเป็นคนงานของโรงงานกระสอบของจำเลย และ เป็นผู้ควบคุมดูแลคนงานของ ณ ซึ่งเป็นคู่สัญญาเก็บปอฝอยกับโรงงานกระสอบของจำเลยอีก7-8 คน ทำการเผาเศษปอที่เหลือจากการเก็บคัดเลือกปอฝอยแล้วเป็นประจำตลอดมา ทั้งปรากฏก่อนเกิดเหตุคดีนี้ กลุ่มควันไฟอันเกิดจากการเผาเศษปอของจำเลยดังกล่าวได้เคยถูกลมพัดพาไปครอบคลุมบริเวณที่เกิดเหตุในคดีนี้ เป็นเหตุให้รถยนต์เกิดชนกันมาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จัดการวางมาตรการป้องกันแต่อย่างใด คงปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์คงเป็นอยู่เช่นเดิมจนกระทั่งได้เกิดเหตุคดีนี้ขึ้นอีก ดังนี้ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นเหตุสุดวิสัยดังจำเลยอ้าง แต่เป็นเพราะจำเลยได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383
ข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายเมื่อผู้เช่าไม่ออกจากห้องเช่าไว้ล่วงหน้าเดือนละ 20,000 บาท มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลลดลงเท่าที่ควรให้เช่าได้เดือนละ 3,000 บาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2025/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 491, 5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ภรรยาโจทก์เอาบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์เช่ามาไปขายฝากไว้กับจำเลยมีกำหนด 2 ปี โดยโจทก์กับภรรยาโจทก์บอกจำเลยว่า ถ้าภรรยาโจทก์ไม่ซื้อบ้านคืนภายในกำหนดให้สิทธิการเช่าที่ดินตกเป็นของจำเลย อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจำเลยไม่ต้องรื้อถอนบ้านออกไป ดังนี้ เมื่อภรรยาโจทก์ไม่ซื้อบ้านคืนภายในกำหนด โจทก์ก็จะฟ้องให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินที่โจทก์เช่าไม่ได้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680, 693 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยทั้งสองในการขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวยังคงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนตามสัญญาค้ำประกัน แม้โจทก์ชำระหนี้แทนไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 680, 693 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยทั้งสองในการขอทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวคงยังเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนตามสัญญาค้ำประกัน แม้โจทก์ชำระหนี้แทนไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1999/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 1144 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 61, 66
ทนายความของบริษัทโจทก์เป็นผู้ลงนามเป็นโจทก์ในคำฟ้องแต่ใบแต่งทนายความลงนามโดยผู้ไม่มีอำนาจตามที่จดทะเบียนไว้ จำเลยยื่นคำให้การคัดค้านอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว ครั้นสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จ โจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ลงนามกรรมการ 2 นายและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจสั่งรับใบแต่งทนายความใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 66 และเนื่องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ภายในเมื่อใด ศาลจึงสั่งรับใบแต่งทนายความใหม่ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วก็ได้ ทั้งการที่มาตรานี้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสอบสวนถึงอำนาจฟ้องได้ ก็ย่อมเป็นเวลาภายหลังยื่นฟ้องแล้ว เมื่อศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือำนาจฟ้องบกพร่อง แต่ศาลไม่ใช่อำนาจยกฟ้องโดยสั่งให้โจทก์แก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์หรือยอมรับการแก้ไขอำนาจฟ้องให้สมบูรณ์ ก็ย่อมทำให้อำนาจฟ้องที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นอำนาจฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก เพราะมิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับให้ศาลใช้อำนาจยกฟ้องอย่างเดียว ถ้อยคำที่ว่า "หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม"ก็จะไม่มีความหมายอะไรไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341
ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดิน โดยโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยแล้วและจำเลยได้ชำระราคาให้โจทก์บางส่วน ส่วนที่เหลือจำเลยได้ตกลงชำระให้โจทก์เป็นงวดๆให้เสร็จสิ้นใน 1 ปี 6 เดือน แม้ภายหลังจำเลยกลับทำสัญญากู้ให้ไว้แทนโดยมีกำหนดชำระเงินกู้ภายใน 5 ปีแต่โจทก์ก็ยินยอมลงนามในสัญญากู้นั้นแล้ว ข้อกล่าวหาของโจทก์ดังนี้ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง