คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4

พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์สลักหลังพินัยกรรมของ ท. ให้ใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย มีผลเด็ดขาดเป็นกฎหมาย พินัยกรรมนั้นใช้ได้ตลอดมาจนปัจจุบัน ต่อมาท.ทำพินัยกรรมให้อ. อาศัยอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่ง อ.จะทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนนั้นให้แก่ใครต่อไป โดยไม่มีที่ดินแปลงอื่นมาแทนมิได้ผู้รับที่ดินตามพินัยกรรมของ อ. จึงโอนที่ดินนั้นต่อไปไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 288

จำเลยที่ 1 ใช้ปืนสั้นชนิดทำเองและกระสุนปืนลูกซองซึ่งเป็นลูกปรายยิงผู้เสียหายทางด้านหลัง 1 นัด ในระยะห่าง 2 วาเศษ กระสุนปืนเฉียดถูกไหล่ขวาได้รับบาดแผลยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ลึกพอผิวหนังขาด เสื้อที่ผู้เสียหายสวมทะลุ 9 รู แต่ไม่มีบาดแผล และกระสุนปืนที่ยิงยังแผ่กระจายไปถูกเสาไฟฟ้าหน้าร้านที่เกิดเหตุ 1 แห่ง ถูกหลังคาสังกะสีหน้าร้านค้าติดร้านที่เกิดเหตุอีก 7 รู ที่ผู้เสียหายไม่ได้รับบาดเจ็บฉกรรจ์ อาจเป็นเพราะคุณภาพของปืนไม่ดีพอหรือจำเลยที่ 1 ยิงไม่แม่นก็ได้ แต่กระสุนปืนบางกลุ่มทำให้หลังคาสังกะสีทะลุได้ แสดงว่าดินส่งกระสุนปืนหาได้ขาดประสิทธิภาพไม่และอาวุธปืนที่ใช้ยิงเป็นอาวุธที่มีอันตรายร้ายแรงหากจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายอย่างจังไม่พลาดแล้วผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 68, 72, 288

เมื่อผู้ตายล้มลงและจอบหลุดจากมือ ผู้ตายไม่อาจจะทำร้ายจำเลยได้การที่จำเลยได้ใช้จอบของผู้ตายตีผู้ตายขณะล้มนอนอยู่ จนกะโหลกศีรษะแตก แสดงว่าตีโดยแรง แม้ตีเพียง 1 ที ก็ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จะอ้างว่ากระทำเพื่อเป็นการป้องกันตัวไม่ได้

จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน โดยเปิดน้ำในนาของผู้ตายจนแห้งเพื่อนำเข้าไปใช้ในนาของจำเลย เมื่อผู้ตายมาด่าและท้าจำเลย จำเลยทำร้ายผู้ตาย ดังนี้ จะอ้างว่ากระทำไปโดยบันดาลโทสะไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1773

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772 - 1773/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 192 วรรคสอง

วันกระทำผิดที่ปรากฏในทางพิจารณาตามข้อนำสืบของโจทก์แตกต่างกับวันกระทำผิดที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องไป 1 เดือน แม้ข้อแตกต่างนี้ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ แต่เมื่อจำเลยเบิกความอ้างฐานที่อยู่ว่าตามวันที่โจทก์กล่าวหาในฟ้อง จำเลยอยู่บ้านมิได้ไปกระทำผิด ก็ถือได้ว่าจำเลยได้หลงต่อสู้คดีแล้ว จึงลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2518

ประมวลรัษฎากร ม. 77 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2509 ม. 4 (3)

โจทก์สั่งสินค้าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในสภาพที่บรรจุอยู่ในถังใหญ่จากต่างประเทศมาจำหน่าย โดยมาแบ่งบรรจุภาชนะย่อยขายและใช้สลากรูปรอยตราชื่อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชชื่อเดิม แต่เติมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วลงไปในสลากนั้นด้วย และระบุด้วยว่าโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ดังนี้ สินค้าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชได้แปรสภาพมาจากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีผู้จัดทำหรือผลิตขึ้นแล้วนำออกขายเป็นสินค้า โจทก์เป็นผู้สั่งซื้อสินค้านี้จากผู้ผลิตในต่างประเทศ การที่โจทก์นำมาแบ่งขายในสภาพเช่นของเดิม โดยมิได้เจือปนวัตถุอื่นเพิ่มเติมลงไปอีกเพื่อขายเป็นสินค้าชนิดใหม่ และได้ขายสินค้านี้ในรูปรอยตราเดิมของผู้ผลิตในต่างประเทศ เห็นได้ว่าเพื่อให้สะดวกแก่ผู้ซื้อที่จะซื้อเพียงเท่าที่ต้องการและเพื่อสะดวกในการนำสินค้าติดตัวไป การระบุในสลากปิดภาชนะสินค้าที่แบ่งขายย่อยว่าโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เป็นการยืนยันว่าโจทก์ไม่ได้ผลิตสินค้าขึ้นใหม่ การที่โจทก์ตีตราเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพิ่มเติมลงไปในสลากสินค้าในรูปรอยเดิมของผู้ผลิตในต่างประเทศ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าขึ้นใหม่ ไม่เป็นการ"ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้า ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ" ตามบทนิยามคำว่า "ผลิต" ในประมวลรัษฎากรมาตรา 77 การแบ่งขายสินค้าซึ่งโจทก์ดำเนินการดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1767

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1766 - 1767/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94

เช่าห้องแถวมีใบเสร็จรับเงินของผู้ให้เช่า ผู้เช่าจะนำสืบพยานบุคคลไม่ได้ว่ามีข้อตกลง ซึ่งไม่ได้ทำเป็นหนังสือว่าต้องบอกล่วงหน้าก่อนเลิกการเช่า 2 ปี ผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของห้องก็บอกเลิกการเช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2518

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2511 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

ตามคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ข้อ 3(1) ที่อ้างว่า ในเขตพระโขนง ย. ได้คะแนนตามภาพถ่ายป้ายประกาศเพียง 18,976 คะแนน ต่อมาได้มีการเพิ่มขึ้นอีก 1,154 คะแนน เป็น 20,130 คะแนน เมื่อรวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ 3 จึงมีคะแนนมากกว่าผู้ร้องจำนวน 231 คะแนน หากไม่มีการเพิ่มผู้ร้องจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยมีคะแนนมากกว่า ย.923 คะแนนนั้น คำร้องข้อนี้ผู้ร้องมิได้บรรยายแจ้งชัดว่ามีการเพิ่มคะแนนกันอย่างไร ที่หน่วยไหน เป็นคำร้องที่เคลือบคลุม

คำร้องข้อ 3(2) อ้างว่ามีการเพิ่มคะแนนให้ ย. ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 2 ตำบลหนองจอกเขตหนองจอก จาก 66 คะแนนเป็น 666 คะแนน เพิ่มขึ้นอีก 600 คะแนน คำร้องข้อ3(3) อ้างว่ามีการเพิ่มคะแนนให้ ย. ที่หน่วยเลือกตั้งในเขตพระโขนง โดยนับบัตรเสียของ ย. ประมาณ5,000 บัตร เป็นบัตรดี และนับบัตรดีของผู้ร้องประมาณ 9,200 บัตร เป็นบัตรเสีย ผู้ร้องมิได้บรรยายว่าบัตรชนิดใดเป็นบัตรเสียแต่กรรมการตรวจคะแนนถือว่าเป็นบัตรดี และบัตรชนิดใดที่เป็นบัตรดี แต่กรรมการตรวจคะแนนถือว่าเป็นบัตรเสีย เพราะบัตรเลือกตั้งที่กฎหมายถือว่าเป็นบัตรเสียนั้น ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2511 มาตรา 58 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2517 มาตรา 19 ได้บัญญัติไว้ถึง 5 ประเภทด้วยกัน ที่ผู้ร้องกล่าวคลุมๆ มาดังกล่าว หาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ไม่

คำร้องข้อ 3(4) อ้างว่า เพื่อเป็นคุณแก่ ย. และเพื่อเป็นโทษแก่ผู้ร้อง มีการทุจริตจงใจนับคะแนนให้ผิดความจริง ฯลฯ เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะระบุว่ามีการกระทำดังกล่าวในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยและหน่วยอื่นๆ อีก พอแปลความได้ว่า ทุกหน่วยเลือกตั้งก็ตาม แต่ผู้ร้องก็มิได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่ามีการจงใจนับคะแนนให้ผิดความจริงอย่างไร เพิ่มหรือลดจำนวนคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดเท่าใด การรวมคะแนนและการลงคะแนนในรายงานแสดงผลการนับคะแนนการแก้ตัวเลขในรายงาน การแก้จำนวนคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น การลงเครื่องหมายผู้ขอรับบัตรเพิ่มขึ้น ผิดความจริงไปอย่างไร คำร้องข้อนี้จึงเคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2518

ประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 698, 699, 700, 701

โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องเพียงคดีเดียว กิจการต่างๆ ที่ระบุไว้ เช่น การแต่งทนาย ถอนฟ้อง ยอมความ อุทธรณ์ฎีกา รวมตลอดถึงการรับเงินในคดี ล้วนแต่เป็นกิจการเฉพาะคดีนั้นทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ใบมอบอำนาจทั่วไป คงปิดอากรแสตมป์เพียง 5 บาท

หนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ใช่ตราสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์

การค้ำประกันจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698ถึง 701 เช่น เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งให้เจ้าหนี้คือโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เสียภายใน 7 วัน แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดีนั้นการค้ำประกันยังไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 163 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18

ศาลสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำฟ้องเดิม การนับอายุความนับถึงวันยื่นคำฟ้องเดิม ไม่ใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2518

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 113 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 240, 702

คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 113 นั้นอายุความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งบัญญัติว่า "การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ฯลฯ"ผู้ร้องรู้ถึงต้นเหตุเมื่อใดนั้น ต้องถือเอาคดีที่มีการขอให้เพิกถอนเป็นหลัก คือคดีนี้นั่นเอง โดยผู้ร้องสอบสวนลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2514 เป็นระยะเวลาเริ่มต้นแห่งอายุความ และยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2515 จึงไม่ขาดอายุความ

ลูกหนี้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ว. โดยไม่สุจริต และเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นต้องเสียเปรียบ ต่อมา ว.นำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารให้ ช. ดังนี้ ศาลชอบที่จะสั่งเพิกถอนการโอนระหว่างลูกหนี้และ ว. ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 113 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องขอให้เรียกเงินจาก ช.ตามจำนวนที่ว. จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้เข้ามาในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายนั้น เห็นว่ากรณีไม่กระทบกระเทือนถึงธนาคารที่ได้สิทธิจำนองไปโดยสุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกร้องได้ เพราะเป็นเรื่องเกินขอบเขตของการเพิกถอนการฉ้อฉล อีกทั้งจะกลายเป็นว่าผู้ร้องได้เข้าสวมสิทธิบังคับชำระหนี้แทนธนาคารเจ้าหนี้โดยมิชอบ ทั้งราคาทรัพย์จำนองก็ท่วมหนี้จำนอง การเพิกถอนการโอนเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่แล้ว

« »
ติดต่อเราทาง LINE