คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
ในข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 360 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหาฐานนี้มีผลเป็นการพิพากษากลับ โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
การที่จำเลยใช้ฝาเฝือกปิดกั้น ทำให้ซ่อมทำนบที่พังไม่ได้ เป็นเหตุให้น้ำในลำห้วยไม่มีใช้เมื่อถึงหน้าแล้งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เช่นนี้ยังไม่มีลักษณะเป็นการทำลายทำให้เสื่อมสภาพที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้เพื่อสารธารณประโยชน์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 94
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ จำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้อำพรางการที่โจทก์เช่าที่ดินจำเลยหักกับหนี้ที่จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวนหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่นำสืบพยานก่อน แต่เอกสารกู้มีความว่า จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วจำเลยให้การทำนองว่าแปลงหนี้โดยเอาหนี้เก่าหักกับหนี้ค่าเช่ามาทำเป็นสัญญากู้ ไม่เป็นการแสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จึงสืบพยานเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1000, 1007
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมระบุจ่ายให้บริษัท พ.บริษัทพ. สลักหลังลอยให้โจทก์ โจทก์ใช้ตรายางประทับด้านหลังเช็คมีข้อความว่าเพื่อฝากเข้าบัญชีของโจทก์เท่านั้น แล้วลงชื่อมอบให้พนักงานของโจทก์ไปฝากเข้าบัญชี พนักงานของโจทก์ได้ลบข้อความที่โจทก์ใช้ตรายางประทับ ทำให้การสลักหลังของโจทก์กลายสภาพเป็นสลักหลังลอย แล้วยักยอกเช็คนั้นไปมอบให้ อ.แล้วอ. นำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารจำเลยเพื่อให้เรียกเก็บเงิน จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นแล้วปรากฏว่าการลบถ้อยคำสลักหลังของโจทก์มีร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจน เป็นการแก้ไขในส่วนสำคัญ เช็คพิพาทย่อมเสียไปตามมาตรา 1007 อ. จะถือประโยชน์จากเช็คพิพาทไม่ได้ธนาคารจำเลยรับเงินตามเช็คไว้เพื่อ อ. โดยความประมาทเลินเล่อ ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 1000 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเช็คพิพาทอันแท้จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2518
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2496 พระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2494
มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2494 บัญญัติห้ามมิให้นำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนิยามคำว่าทองคำไว้ว่า หมายถึงเนื้อทองคำไม่ว่าจะเป็นแท่ง ก้อน แผ่น หรือรูปอื่น หรือผสมกับสิ่งอื่นใดด้วย แต่ไม่หมายความถึงเครื่องรูปพรรณทองคำ ซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย ทองคำแผ่นของกลางทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดเท่ากันและมีตราประทับไว้เท่านั้น จึงมิใช่เครื่องรูปพรรณทองคำซึ่งตามปกติและโดยสภาพใช้ในการประดับร่างกาย การที่จำเลยรับทองคำแผ่นของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทองคำแผ่นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2496มาตรา 27ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278 - 2279/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 365
จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโรงงานฆ่าสัตว์ โจทก์เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนและอาศัยอยู่ในโรงงานฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นสำนักงานของห้างหุ้นส่วน จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน จำเลยกับพวกไปที่โรงงานยื่นบันทึกให้โจทก์ส่งมอบเงินกับบัญชีและอายัดทรัพย์ปิดไว้ที่ตู้เซฟ ประตูห้องโจทก์ และเอาไม้ตีประตูชั้นล่างของโรงงาน เพราะเกรงว่าจะมีสิ่งของหายไป เช่นนี้จำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
คู่ความตกลงท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะว่า หากโจทก์นำ ส. ภรรยาโจทก์มาสาบานต่อหน้าศาลได้ว่ายังไม่ได้รับเงิน 9,000 บาท ตามที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จำเลยยอมแพ้คดี ถ้า ส. ไม่กล้าสาบาน โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี ปรากฏว่า ส. ได้สาบานต่อหน้าศาลว่าไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนี้ตามคำสาบานของส. แม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงิน 9,000 บาท ก็ถือได้ว่าตรงตามคำท้าแล้ว เพราะตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยไม่ชำระเงิน 9,000 บาท จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า และต้องชดใช้ต้นเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยด้วยตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2276/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 525 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288
ซ. ปลูกสร้างบ้านพิพาทแล้วยกให้ผู้ร้องกับหลานอีกคนหนึ่ง ต่อมา ซ. ได้จดทะเบียนยกที่ดินที่บ้านพิพาทปลูกอยู่ให้ผู้ร้องกับหลานอีก ดังนี้ แม้การยกบ้านพิพาทให้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้การให้ไร้ผล เพราะผู้ร้องได้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน จึงเป็นเจ้าของรวมในบ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินนั้นด้วย
เมื่อจำเลยไม่มีส่วนเป็นเจ้าของในบ้านพิพาท โจทก์จึงนำยึดบ้านเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531
หากจำเลยกล่าวขึ้นมึงกูต่อโจทก์ผู้เป็นบิดา ไม่นับถือโจทก์ว่าเป็นบิดาเปรียบโจทก์ว่าเป็นสุนัขและว่าโจทก์เป็นคนเลวไม่มีศีลธรรม จะฟ้องให้ต้องโทษถึงจำคุกจริงดังที่โจทก์บรรยายฟ้อง ย่อมทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 393
ด่าว่า "อีสัตว์ เดี๋ยวตบเสียนี่" เป็นดูหมิ่นตามมาตรา 393
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213 - 2214/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 340, 83
จำเลยที่ 1 หยิบแว่นตาจากกระเป๋าเสื้อผู้เสียหายขณะนั่งอยู่ในร้านขายอาหารไปใส่ส่องกระจกดู แล้วจำเลยทั้งสามเดินออกจากร้านไป ไม่คืนแว่นตา เมื่อผู้เสียหายไปขอคืน จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้ กลับให้จำเลยที่ 2 เอาแว่นตาไป ผู้เสียหายขอคืนจากจำเลยที่ 2 ๆ ไม่ให้ จำเลยที่ 3 คว้าเอาไปอีกต่อหนึ่งต่อหน้าผู้เสียหาย แล้วพากันขึ้นรถประจำทางไป ผู้เสียหายตามไปทวงคืนอีก จำเลยที่ 2 ที่ 3 พูดว่า อย่าตามมานะ ถ้าตามจะเจ็บตัว ต่อมาในวันเกิดเหตุนั้นเอง จำเลยที่ 3 เอาแว่นตาไปจำนำ ดังนี้ จำเลยทั้งสามต้องมีความผิดฐานปล้นทรัพย์