มาทำความรู้จักการลักทรัพย์นายจ้างจากทนายตัวจริง
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”
“ทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง การลักทรัพย์ ต้องมีการเอาไป หมายความว่า
ทรัพย์นั้นต้องเป็นของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น การที่เจ้าของทรัพย์ไปเอาทรัพย์ของตนเองจากผู้อื่นกลับคืนมาเป็นของตนเอง ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
อ่านบทความเรื่อง "ลักทรัพย์" ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น คลิกเลย !
อายุความของความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
อายุความของความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างคือ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด
ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ตาผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท พิจารณาจากระวางโทษความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
และพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 95(3) กำหนดไว้ว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด10ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ”
และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 95 วรรคท้าย กำหนดว่า “ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน” หมายความว่า คดีอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้างซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่1-5 ปี ถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ถือว่า ขาดอายุความ ในกรณีที่ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนด 10 ปีดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นกัน ดังนั้น อายุความฟ้องคดีฐานลักทรัพย์นายจ้างต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด
เข้าใจการนับอายุความในคดีต่างๆ คลิกเลย !
คดีลักทรัพย์นายจ้างยอมความได้ไหม?
คดีลักทรัพย์นายจ้างไม่สามารถยอมความได้
ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 1 ความผิดฐานลักทรัพย์มีบัญญัติตั้งแต่มาตรา 334 ถึง มาตรา 335 ทวิ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติให้ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามมาตรา 335(11) เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น คดีลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) จึงไม่สามารถยอมความกันได้
แต่ถ้าการกระทำความผิดกรณีที่ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามมาตรา 335(11) นี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้ หมายความว่า ถ้าลูกจ้างลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเล็กน้อย เช่น ลูกจ้างลักขโมยนมกล่องจำนวน 1 กล่อง เนื่องจากยากจนไม่มีเงินเลี้ยงดูลูก และนมกล่องมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษลูกจ้างผู้กระทำความผิดตามโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 334 ก็ได้ จากเดิมกระทำผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง มาตรา 335(11) ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่การลักทรัพย์นั้นเกิดจากความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะพิจารณาลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้
โทษของความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
โทษของความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
โทษของความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ซึ่งเป็นโทษที่สูงกว่าการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์นายจ้าง
ลักทรัพย์นายจ้างเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่มีเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11)
ลักทรัพย์นายจ้าง ในทางกฎหมายคือความผิดฐานลักทรัพย์ที่มีเหตุฉกรรจ์ ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ลักทรัพย์นายจ้าง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดลักทรัพย์ (11) ที่เป็นของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง”
คำว่า “นายจ้าง” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 กำหนดไว้ว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
- ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
- ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย” การลักทรัพย์นายจ้าง ต้องมีการ "เอาไป" หมายความว่า ลูกจ้างต้องเอาไป ซึ่งทรัพย์อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ผู้กระทำมีฐานะเป็นลูกจ้าง ไม่ว่าจะมีสัญญาจ้างต่อกันหรือไม่ หากเอาทรัพย์ของนายจ้างไป เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11)
ฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์นายจ้าง
1.ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรกนั้น ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์ที่ลักขโมยว่าเป็นของนายจ้างหรืออยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือไม่ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการลักทรัพย์ที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างครอบครองดูแลรับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ของกลางที่จำเลยลักขโมยไปรวมทั้งทรัพย์สินใด ๆ ในคลังสินค้าของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก (อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกา 2966/2539)
2.จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย (ผู้เสียหายเป็นนายจ้าง) มีหน้าที่ขายรถยนต์ให้ลูกค้าของผู้เสียหายและเก็บเงินจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเงินค่าจองรถ ค่าดาวน์รถกับ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์ ซึ่งได้รับจากลูกค้าที่ซื้อรถยนต์จากผู้เสียหาย เงินจำนวนต่าง ๆ ที่จำเลยรับไว้จากลูกค้า เป็นการรับเงินไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าผู้มาซื้อรถยนต์ จำเลยเพียงแต่รับเงินและยึดถือไว้ชั่วคราวก่อนจะนำส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น อำนาจในการครอบครองควบคุมดูแลเงินดังกล่าวจึงเป็นของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยรับเงินจากลูกค้าของผู้เสียหายร่วม 7 ครั้งแล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2564)
กรณีจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย
จำเลยที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามมาตรา 335 (11)
จำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557) หมายความว่า กรณีนี้ น. เป็นลูกจ้าง ความเป็นลูกจ้างเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของลูกจ้าง แต่จำเลยไม่ใช่ลูกจ้าง แม้จำเลยได้ร่วมมือกันในฐานะตัวการร่วมกับลูกจ้างของผู้เสียหายในการลักทรัพย์นั้น จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง เพราะจำเลยไม่ใช่ลูกจ้างนั่นเอง
กรณีจำเลยเป็นลูกจ้างรายวัน
ลูกจ้างรายวันที่ไปลักทรัพย์ในวันที่ไม่ทำงาน ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามมาตรา 335 (11)
จำเลยเป็นลูกจ้างรายวัน ถ้าวันไหนไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้างนั้น ย่อมไม่มีสภาพเป็นลูกจ้างนายจ้างกันทุกวัน ถ้าลูกจ้างไปลักทรัพย์ของผู้จ้างในวันที่ไม่ไปทำงาน ย่อมไม่มีผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2488)
รวมกฎหมายที่ลูกจ้างรายวันต้องรู้ ! อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



