คู่สมรสกู้เงินมาใช้ คู่สมรสอีกฝ่ายต้องรับผิดร่วมกับคู่สมรสผู้กู้ด้วยหรือไม่?
ความผูกพันของคู่สมรสในด้านทรัพย์สินและหนี้สิน
เมื่อหญิงและชายได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ย่อมเกิดความผูกพันในฐานะคู่สมรสไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสต่างมีต่อกัน เช่น การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือความผูกพันในด้านทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาหรือที่มักเรียกกันว่าหนี้ร่วมแล้วเคยสงสัยกันไหมครับว่าหากคู่สมรสอีกฝ่ายไปกู้ยืมเงินมาใช้เป็นการส่วนตัว อีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่ ในบทความนี้มีคำตอบครับ
หนี้ส่วนตัวของคู่สมรสกับการกู้ยืมเงิน
ในกรณีที่คู่สมรสกู้ยืมเงินมาใช้เป็นการส่วนตัวนั้น เป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง อันเป็นการก่อหนี้เพื่อประโยชน์ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว โดยปกติแล้วการกระทำดังกล่าวจึงเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น
หนี้ส่วนตัวที่กลายเป็นหนี้ร่วมได้
มีบางกรณีที่หนี้ส่วนตัวอาจกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาได้ โดยผลประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 หากเป็นการก่อหนี้ในระหว่างที่ยังสมรสกันอยู่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้:
กู้ยืมเพื่อจัดการครัวเรือน: หากสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว เพื่ออุปการะเลี้ยงดูคนในครอบครัว หนี้เพื่อรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อให้การศึกษาตามสมควร เช่น กู้มาเพื่อซ่อมแซมบ้านที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว อันเป็นการกู้ยืมมาเพื่อหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว หนี้กู้ยืมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วม ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2734/2545
กู้ยืมเพื่อนำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส: ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 เช่น กู้ไปซื้อที่ดิน ที่ดินที่ได้มาขณะสมรสย่อมตกเป็นสินสมรส ส่วนหนี้เงินกู้ที่กู้มาเพื่อซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสจึงกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5274/2556
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "หนี้สมรส" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
Q: หนี้สมรสที่เกิดก่อนหย่า ต้องชำระหนี้ถึงขั้นไหนค่ะ
กู้ยืมมาเพื่อใช้ในกิจการที่สามีภริยาทำร่วมกัน: เช่น กู้ยืมมาเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจที่สามีและภริยาทำร่วมกัน หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วม
กู้ยืมมาเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวแต่คู่สมรสอีกฝ่ายให้สัตยาบันแก่การกู้ยืมนั้น: หนี้ดังกล่าวกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาโดยพฤติการณ์แบบไหนที่ถือเป็นการให้สัตยาบัน แบบไหนไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันนี้ เราสามารถแบ่งออกคร่าว ๆ ได้ดังนี้:
- การให้ความยินยอมเพื่อให้คู่สมรสทำนิติกรรมทั่วไป: โดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าทำนิติกรรมใดกับใคร ไม่ถือเป็นการให้สัตยาบัน การที่คู่สมรสใช้หนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวไปทำนิติกรรม นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้ร่วม ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8820/2561 (ประชุมใหญ่)
- ให้ความยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรมโดยระบุเฉพาะเจาะจง: ว่ายินยอมให้ทำนิติกรรมใดกับใคร เป็นการให้สัตยาบันหนี้ที่เกิดจากการทำนิติกรรมนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีและภริยา ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5118/2559
- ลงชื่อเป็นพยานในนิติกรรมที่คู่สมรสทำกับบุคคลภายนอก: ถือเป็นการให้สัตยาบันต่อนิติกรรมนั้น นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาฎีกาที่ 7631/2552
"อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง : คู่สมรสก่อหนี้ อีกฝ่ายต้องรับผิดชอบด้วยไหม?"
สรุป
ทนายขอสรุปว่า การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นหรือสถาบันการเงินต่างๆ มาใช้เป็นการส่วนตัวนั้น โดยปกติแล้วถือเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นเท่านั้น เว้นแต่มีพฤติการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) – (4) ได้แก่:
- หนี้เพื่อจัดการครัวเรือน
- หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
- หนี้ที่เกิดจากการงานที่ทำร่วมกัน
- หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของคู่สมรสฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายให้สัตยาบัน
หนี้กู้ยืมดังกล่าวก็จะกลายเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรสโดยผลของกฎหมาย และเมื่อเป็นหนี้ร่วมแล้วเจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้แม้ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วยก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีจะเป็นหนี้ร่วมได้ต้องเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย หรือหากเป็นเพียงการยินยอมให้ทำนิติกรรมทั่วไปโดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าให้ทำนิติกรรมใดเพียงแต่รับรู้และไม่คัดค้าน หนี้กู้ยืมนั้นก็ยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นเท่านั้นครับ หากมีข้อสงสัยทางกฎหมายต้องการปรึกษาทนาย สามารถปรึกษาผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมง หรือคลิกที่นี่ได้เลยครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



