รู้จักกฎหมายหมิ่นประมาทคืออะไร
แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวก็ต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพราะบางถ้อยคำที่เราพูด ข้อความที่เราโพสต์ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น อาจจะนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “หมิ่นประมาท” แบบไม่รู้ตัว
หมิ่นประมาท คืออะไร?
หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม
'อ่าน มากกว่า 200คำปรึกษาจริง เรื่องหมิ่นประมาท พร้อมคำตอบจากทนายความได้ที่นี่'
Q: การวิจารณ์ด้วยถ้อยคำประมาณนี้ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไหมคะ?
Q: คดีหมิ่นประมาทถ้าฟ้องแล้วคุ้มไหม
การหมิ่นประมาท มีอะไรบ้าง?
การหมิ่นประมาทมีได้ 2 กรณี คือ การหมิ่นประมาทแบบธรรมดา และการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
1. การหมิ่นประมาทแบบธรรมดา
การหมิ่นประมาทแบบธรรมดา เป็นการหมิ่นประมาทโดยใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม มีลักษณะเป็นการใส่ความแบบตัวต่อตัว หรือเพียงกลุ่มคนเท่านั้น ไม่ใช่การป่าวประกาศ
2. การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นการหมิ่นประมาทโดยป่าวประกาศหรือประจานออกไป เช่น การเผยแพร่ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์หรือการหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต การเผยแพร่ข้อความลงหนังสือพิมพ์ หรือการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นต้น อัตราโทษจะสูงกว่าการหมิ่นประมาทแบบธรรมดา เพราะบุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อความหมิ่นประมาทได้ ความเสียหายย่อมมีมากกว่า
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง : รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท คลิกที่นี่
องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท
- ผู้กระทำความผิด
- ข้อมูลที่สื่อสารให้เกิดความเสียหาย
- การใส่ความที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
- ผู้อื่นหรือผู้ถูกใส่ความ
- บุคคลที่สามที่รับข้อมูลดังกล่าว
- เจตนาของผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน
แบบไหนที่เรียกว่า “หมิ่นประมาท”?
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแบบไหนเข้าข่ายหมิ่นประมาท? แบบไหนฟ้องได้? เราจะขอยกตัวอย่างการกระทำที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทมาให้ดูกัน
กล่าวหาผู้อื่น
การกล่าวหาผู้อื่น โดยมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบคาย แม้จะเป็นคำพูดสุภาพแต่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยวาจา ผู้เสียหายก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้ เช่น กล่าวหาว่าเป็นคนขายชาติ ท้องก่อนแต่ง เป็นคนร้ายลักทรัพย์ เป็นต้น
ไม่ระบุชื่อ ไม่ได้บอกว่าใคร
แม้การกล่าวหาจะไม่ระบุชื่อ ไม่ได้บอกว่าใคร หรือบอกเพียงตัวย่อเท่านั้น แต่บริบทสามารถบ่งบอกได้ว่าคือใคร หรือบุคคลทั่วไปอ่านแล้วรู้แน่นอนว่าหมายถึงใคร ก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ แต่ต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาลต่อว่า ข้อความ หรือการพูดดังกล่าวพูดถึงใคร
ยกตัวอย่าง นาย B โพสต์ข้อความว่า “ผอ. หญิงโรงเรียนประถม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านผู้ชายมาหลายคน”
แม้จะไม่ระบุชื่อ แต่ผอ. โรงเรียนประถมในอำเภอเมืองที่เป็นผู้หญิงมีคนเดียว คนอ่านทราบได้ทันทีว่าหมายถึงใคร นาย B ย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ถ้าอ่านแล้วไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะโรงเรียนประถมในอำเภอเมืองทุกแห่ง มีผอ. เป็นผู้หญิงทั้งหมด ทำให้ต้องไปสืบหาเพิ่มเองถึงรู้ อาจไม่นับว่าเป็นการหมิ่นประมาท
ตั้งคำถามโดยไม่สุจริต
การตั้งคำถามโดยไม่สุจริต คือ การตั้งคำถามเพื่อตั้งใจหาเรื่องผู้อื่น หรือการตั้งคำถามแบบรู้คำตอบอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท เช่น นางสาว A ถามนางสาว C ว่า “เป็นเมียน้อยเจ้านายใช่ไหม” ทั้ง ๆ ที่ตนเองรู้คำตอบอยู่แล้ว แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ผู้พูดมีเจตนาต้องการเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ฟังอยู่ รู้ว่านางสาว C เป็นเมียน้อย ถือเป็นการหมิ่นประมาท
เล่าต่อ หรือส่งต่อข้อความ
การเล่าต่อ หรือส่งต่อข้อความที่มีการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้ส่งต่อย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย อย่างไรก็ตามหากกระทำการส่งต่อข้อความดังกล่าวเพื่อที่จะบอกหรือเตือนผู้อื่น และสิ่งที่หมิ่นประมาท “เป็นความจริง” ก็อาจไม่เป็นความผิด ดังนั้นการลงโทษจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อเท็จจริงและบริบทในการกระทำประกอบ
หมิ่นประมาทผู้ตาย
แม้ผู้ตายจะสิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว แต่การหมิ่นประมาทผู้ตายอาจส่งผลกระทบต่อบิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายได้ เช่น นางสาว A โพสต์ข้อความว่าผู้ตายพัวพันกับการค้ายาเสพติด อันเป็นเหตุให้สามีของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียง และถูกเกลียดชังจากผู้อื่น ผู้โพสต์จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทนั่นเอง
ด่าแบบไหนไม่ถูกฟ้อง
- การคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เช่น อีก 2-3 ปีก็คงท้องก่อนแต่ง
- การทะเลาะ ด่าทอ โต้เถียงกัน หรือที่เรียกว่า “ต่างคนต่างด่า” ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดร่วมด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท
1. หมิ่นประมาท ฟ้องได้ไหม?
ฟ้องได้ โดยผู้ฟ้องหมิ่นประมาทต้องฟ้องต่อศาลภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่รู้ว่ามีการหมิ่นประมาทเกิดขึ้น และรู้ตัวผู้กระทำผิด เพราะหากพ้น 3 เดือนไป คดีจะขาดอายุความ กล่าวคือ ศาลจะไม่สามารถที่นำคดีความเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีได้
2. ฟ้องหมิ่นประมาท เก็บหลักฐานอะไรบ้าง?
- แคปเจอร์ข้อความที่หมิ่นประมาท โดยควรแคปเจอร์ให้เห็นการคอมเมนท์ ไลค์ หรือแชร์ เพื่อให้เห็นว่าการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
- รูปโปรไฟล์ของผู้หมิ่นประมาท เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำมีตัวตนจริง ๆ
- พยานบุคคล คือ บุคคลที่ 3 ที่ได้ยินหรือเห็นข้อความนั้น ๆ
3. คดีหมิ่นประมาทมีโทษอย่างไร?
- การหมิ่นประมาทแบบธรรมดา มาตรา 326 ระบุว่าผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 328 ระบุว่าถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
4. หมิ่นประมาทมีกี่มาตรา?
ข้อหาหมิ่นประมาทนั้น จะบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตราที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมด 8 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 326 - มาตรา 333
5. หมิ่นประมาท กับ ดูหมิ่น ต่างกันอย่างไร?
การดูหมิ่น คือ การใช้วาจาดูถูกเหยียดหยามต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยหรือไม่ แต่การหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจนทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง กล่าวคือต้องมีบุคคลที่สามจึงจะครบองค์ประกอบของการหมิ่นประมาทนั่นเอง
การแสดงความคิดเห็นต่อผู้อื่นหากเข้าข่ายหมิ่นประมาท ผู้เสียหายก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้ ดังนั้นควรคิดทบทวนให้ดีก่อนจะพูดหรือโพสต์อะไรก็ตาม และใครที่เป็นผู้เสียหายก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยอาจเกิดผลเสียต่อการพิจารณาคดีได้ ทั้งคดีขาดอายุความหรือความทรงจำของพยานเลือนหายไป
นอกจากนี้การเก็บพยานหลักฐานการหมิ่นประมาท มีความละเอียด จึงจำเป็นต้องให้ทนายความที่มีความเชี่ยวชาญแนะนำวิธีการเก็บพยานหลักฐาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการคดีความของคุณ ดังนั้นใครที่โดนหมิ่นประมาทแต่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งที่โดนเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ Legardy มีบริการปรึกษาทนายมืออาชีพผ่านระบบแชท , วิดีโอคอล เปรียบเสมือนคุณมีทนายส่วนตัวให้คำปรึกษาและหาทางออกให้กับปัญหาของคุณตลอด 24 ชั่วโมง
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที