Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-19

มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


“มาตรา 8 หรือ มาตรา 8 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 8 ” หรือ “มาตรา 8 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
              (ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
              (ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
              ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
              (๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ ถึงมาตรา ๒๒๓  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๒๐ วรรคแรก และมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๓ ถึงมาตรา ๒๓๖  ทั้งนี้ เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓๘
              (๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ (๑) และ (๒) มาตรา ๒๖๘  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๒๖๙
              (๒/๑)๓ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑ ถึงมาตรา ๒๖๙/๗
              (๒/๒)๔ ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึงมาตรา ๒๖๙/๑๕

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


              (๓) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๕  ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๗๖
              (๔) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐
              (๕) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๘
              (๖) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
              (๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗ ถึงมาตรา ๓๒๐
              (๘) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๓๖
              (๙) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๗ ถึงมาตรา ๓๔๐
              (๑๐) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๔๔ มาตรา ๓๔๖ และมาตรา ๓๔๗
              (๑๑) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๒ ถึงมาตรา ๓๕๔
              (๑๒) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๗
              (๑๓) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๘ ถึงมาตรา ๓๖๐”


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 8” หรือ “มาตรา 8 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2558
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพเพื่อให้ผู้อื่นทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์กนอกราชอาณาจักร จำเลยที่ 3 ผู้กระทำผิดเป็นคนไทยและผู้เสียหายทั้งสองได้ร้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 3 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรและศาลไทยจะลงโทษได้เฉพาะความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ประกอบมาตรา 8 ตาม ป.อ. เท่านั้น ศาลฎีกาต้องตีความกฎหมายทางอาญา โดยเคร่งครัด จะขยายความมาตรา 8 ไปไกลว่า กฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอันมีโทษหนักขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 หาได้ไม่ และมาตรา 12 นั้นเองไม่ได้บัญญัติว่า หากกระทำความผิดดังกล่าวไม่ว่าภายในหรือนอกราชอาณาจักรต้องรับโทษด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2537
ความผิดฐานปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่นเกิดขึ้นในทะเลหลวงนอกราชอาณาจักร ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 8(4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใคร และไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(2) ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่า โดยไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วย ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้ายจึงเป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 หลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายกับพวกประมาณ 20 เมตร เพื่อรอดู การที่เรือประมงของพวกจำเลยอีก 2 ลำ เข้ามาปฏิบัติการเทียบกับเรือผู้เสียหายเมื่อเรือประมงดังกล่าวปฏิบัติการเสร็จแล้ว โดยนำหญิงในเรือของผู้เสียหายขึ้นไปบนเรือแล้วแล่นออกไป จำเลยกับพวกได้ขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหาย จนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ20 คน ดังนี้ การกระทำดังกล่าวยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไป จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิดการที่ตนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาว่าศาลไทยลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดต่อชีวิตที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษเกินคำขอหรือไม่ การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,225


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2508
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) วรรคสอง(9) นั้นเมื่อจำเลยเป็นคนไทยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์นอกประเทศ ผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษแล้ว จำเลยจึงต้องรับโทษในราชอาณาจักรและในคำฟ้องก็ไม่ต้องอ้างกฎหมายอาญาของประเทศที่จำเลยไปกระทำผิด กับโจทก์ไม่จำต้องนำสืบกฎหมายต่างประเทศ
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ส่งประเด็นไปสืบตำรวจพม่า 3 คน ณประเทศพม่า หรือ ณ สถานทูตประเทศพม่าและร้อยตำรวจเอกจำนงเบิกความประกอบยืนยันในคำให้การตำรวจเหล่านั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักอะไร นั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุกไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท