ความหมายของสิทธิและเสรีภาพ
กฎหมายนั้นได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพให้ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ได้ให้เจาะจงใครมีสิทธิพิเศษ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่ถือ ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ ศาสนา จะเลือกปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติไม่ได้ บทความนี้ Legardy จะพาผู้อ่านทุกท่านมารู้จักสิทธิและเสรีภาพกันครับ
สิทธิ คือ
สิทธิหมายถึง สิ่งที่กฎหมายยอมรับและคุ้มครองให้บุคคลนั้นสามารถทำสิ่งต่างๆได้โดยไม่ผิด และมีหน้าที่คุ้มครองไม่ให้บุคคลอื่นมาละเมิดสิทธิของเราและกฎหมายยังรับรองให้บุคคลสามารถทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น
- สิทธิในทรัพย์สิน เราเป็นเจ้าของบ้านเราก็มีสิทธิจะใช้บ้านยังไงก็ได้
- สิทธิในชีวิตและร่างกาย มีสิทธิที่จะมีชีวิตไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิทำร้าย
เสรีภาพ คือ
เสรีภาพในทางกฎหมาย หมายถึง การที่บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นหรือการกระทำใดๆ ได้โดยอิสระโดยปราศจากการบังคับ ขู่เข็ญ หรือถูกแทรกแซงจากผู้อื่น ทั้งนี้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี อีกทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นเช่นกัน
สิทธิและเสรีภาพมีอะไรบ้าง สิทธิพลเมืองมีกี่ข้อ
สิทธิพลเมืองมีหลักๆ 5ข้อ ดังนี้
1.สิทธิในชีวิตและร่างกาย
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 28
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายการจับและการคุมขังรวมไปถึงการค้นตัวบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่น
2.สิทธิความเป็นส่วนตัว
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 32
บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัว มีเกียรติ มีชื่อเสียงที่ดี และมีครอบครัวที่อบอุ่น
ห้ามใครมาละเมิดหรือทำให้สิทธิเหล่านี้เสียหาย รวมถึงการเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ และต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น
3.สิทธิในทรัพย์สินและการสืบทอดมรดก
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 37
รัฐจะยึดที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของเราไม่ได้ ยกเว้นมีกฎหมายให้อำนาจรัฐทำได้ และต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น เช่น สร้างถนน สร้างโรงพยาบาล หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ และรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมให้เราด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบที่เราได้รับ รวมถึงประโยชน์ที่เราอาจได้จากการถูกยึดทรัพย์นั้น
4.สิทธิของบุคคลและชุมชน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 41
- สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ เราสามารถขอข้อมูลหรือข่าวสารที่รัฐมีอยู่ได้ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลการใช้งบประมาณ ข้อมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้เราตรวจสอบการทำงานของรัฐได้
- สิทธิในการร้องเรียน ถ้าเราเดือดร้อนหรือไม่พอใจการทำงานของรัฐ เราสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานนั้นๆ ได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งผลให้เราทราบโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบหาย
- สิทธิในการฟ้องรัฐ ถ้าข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของรัฐ ทำให้เราเดือดร้อนเสียหายจากการทำงานหรือไม่ทำงาน เราสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐนั้นได้ เพื่อให้รัฐรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
5.สิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับการคุ้มครอง
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46
ประชาชนมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วยกัน
องค์กรผู้บริโภคสามารถรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรใหญ่ที่เป็นอิสระ เพื่อเพิ่มพลังในการปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งในเรื่องการจัดตั้ง การเป็นตัวแทนผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงิน
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง จากลิงค์นี้ได้เลยครับ !

เสรีภาพมีดังนี้
1.เสรีภาพส่วนบุคคล
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 28
สิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลนั้นสามรถดำรงชีวิตได้อย่าปกติสุข ปราศจากการคุกคามในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และมีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง
2.เสรีภาพในการนับถือศาสนา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 31
บุคคลสามารถเลือกที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ หรือไม่นับถือศาสนาใดก็ได้ หรือจะเปลี่ยนศาสนาของตนได้ตลอดเวลา โดยห้ามบังคับ ข่มขู่ และรวมถึงสิทธิในการปฎิบัติตามหลักศาสนาที่ตนเองนับถือ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการแผยเผ่ศาสนา ทั้งนี้ห้ามขัดต่อหลักกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
3.เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 32
บุคคลนั้นมีสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ ที่อาศัย หรือการตั้งรกรากในสถานที่ใดๆภายในประเทศ อีกทั้งยังรวมถึงสิทธิในการเดินทางภายในประเทศ และสิทธิในการออกนอกประเทศและกลับเข้ามาในประเทศ
4.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34
บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นและทัศนะของตนเองในเรื่องต่างๆได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านทาง การพูด การเขียน การพิมพ์ การวาดภาพ โดยปราศจากการถูกแทรกแซง ข่มขู่จากบุคคลอื่น
แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม
5.เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 40
บุคคลสามารถเลือกประกอบอาชีพหรือหารายได้โดยสุจริตได้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล โดยปราศจากการแทรกแทรงหรือการถูกบังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
6.เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44
7.เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44
กฎหมายพรรคการเมืองต้องกำหนดให้การบริหารพรรคเป็นไปอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้ โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคต้องบริหารงานอย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สมาชิกทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

สิทธิหมายถึงอะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง
สิทธิหมายถึงสิ่งที่กฎหมายยอมรับและคุ้มครองให้บุคคลนั้นสามารถทำสิ่งต่างๆได้โดยไม่ผิด และมีหน้าที่คุ้มครองไม่ให้บุคคลอื่นมาละเมิดสิทธิของเราและกฎหมายยังรับรองให้บุคคลสามารถทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดได้
สิทธิมีองค์ประกอบดังนี้
1.ผู้ทรงสิทธิ
ผู้ทรงสิทธิหรือบุคคลที่มีสิทธิคือบุคคลที่กฎหมายยอมรับว่าเป็นเจ้าของสิทธิ เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือรัฐ
2.สิ่งที่เป็นสิทธิ
สิ่งที่เป็นสิทธิหรือวัตถุของสิทธิคือสิ่งที่ผู้ทรงสิทธิสามารถกระทำได้ เช่น ทรัพย์สิน การได้รับการคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย การได้รับการศึกษา เป็นต้น
3.เนื้อหาของสิทธิ
เนื้อหาของสิทธิหมายถึงสิ่งที่กฎหมายกำหนดว่าเจ้าของสิทธิมีสิทธิกระทำหรือไม่กระทำได้ เช่น สิทธิในการใช้ทรัพย์สิน สิทธิในการพูดคุยและแสดงความคิดเห็น
4.แหล่งที่มาของสิทธิ
แหล่งที่มาของสิทธิหมายถึงกฎหมายหรือหลักการที่ให้การรับรองสิทธิดังกล่าว เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือหลักการสิทธิมนุษยชน
5.การใช้สิทธิ
การใช้สิทธิคือการที่ผู้ทรงสิทธิดำเนินการตามสิทธิของตนตามที่กฎหมายรับรอง เช่น การใช้สิทธิในทรัพย์สิน การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
6.การคุ้มครองสิทธิ
การคุ้มครองสิทธิหมายถึงกลไกหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิและการชดเชยหากสิทธิถูกละเมิด เช่น การฟ้องร้องในศาล การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุป
สิทธิและหน้าที่เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านทุกคนมีสิทธิ์ที่ได้รับตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือสิทธิในทรัพย์สิน แต่ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นกัน การตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมที่น่าอยู่ การเคารพสิทธิของผู้อื่นเป็นการแสดงออกถึงความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



