“มาตรา 343 หรือ มาตรา 343 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 343 ” หรือ “มาตรา 343 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ฉ้อโกง" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ฉ้อโกง" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 343” หรือ “มาตรา 343 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112/2565
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน โดยเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์พร้อมกับวงแชร์อื่นหลายวงมากกว่าสามวง และมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน แต่ในคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยให้เห็นว่า จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายหรือผู้อื่น จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์ตามข้อกล่าวอ้างอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่อ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาแท้จริงคือหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนโดยไม่มีเจตนาจ่ายผลตอบแทนจริงและไม่มีการเปียหรือประมูลแชร์แต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวได้
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2564
แม้การหลอกลวงของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่การดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยการที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแสดงโครงการออกโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับที่จำเลยทั้งสี่จะดำเนินการต่อไป กรณีถือว่าเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยวิธีการฝากเงิน ซึ่งมี 3 ประเภท คือ ฝากเงินแบบขอรับเงินปันผลกำไร (มูฎอรอบะห์) ฝากเงินแบบรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) ไม่มีส่วนร่วมเงินปันผล ฝากเงินเพื่อฮัจญ์และอุมเราะห์ โดยกองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนทำธุรกิจตามโครงการที่โฆษณาไว้ แล้วจะแบ่งปันผลกำไรหรือผลตอบแทนให้แก่สมาชิกที่ฝากเงินลงทุนดังกล่าว ซึ่งการรับฝากเงินดังกล่าวเป็นการประกอบธุรกิจรับฝากเงินตามความหมายคำนิยามคำว่า ธุรกิจเงินทุน ของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบธุรกิจเงินทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งองค์ประกอบความผิดของมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มิได้บัญญัติไว้ว่าผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต เพียงแต่บัญญัติห้ามผู้ใดนอกจากสถาบันการเงินใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่า ธนาคาร เงินทุน การเงิน การลงทุน เครดิต ทรัสต์ ไฟแนนซ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันเท่านั้น เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. มิใช่สถาบันการเงิน และคำว่า กองทุนออมทรัพย์ เป็นคำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับธนาคาร เงินทุน การลงทุน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ชื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงิน
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2564
การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดโดยให้ส่งหมายนัดให้โจทก์อีกครั้งพร้อมแนบสำเนาคำร้องของจำเลย โดยให้ระบุในหมายนัดว่า หากโจทก์จะคัดค้านให้คัดค้านก่อนหรือภายในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ไม่คัดค้าน ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลต้องการนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์และจำเลยมาศาลเพื่อแถลงร่วมกันเกี่ยวกับการชำระเงินของจำเลยในนัดต่อไป เมื่อโจทก์ไม่มาศาลเพื่อแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันจะทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรม การละเลยของโจทก์เช่นนี้ถือว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15