Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 997 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 997 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 997” คืออะไร? 


“มาตรา 997” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 997 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป เมื่อนำเบิกเอาแก่ธนาคารใด ท่านให้ธนาคารนั้นบอกปัดเสียอย่าใช้เงินให้ เว้นแต่ที่ขีดคร่อมให้แก่ธนาคารในฐานเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงิน
              ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดังกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น ในการที่เขาจะต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คดังนั้น
              แต่หากเช็คใดเขานำยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และเมื่อยื่นไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คขีดคร่อมก็ดี หรือไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่นนอกจากที่อนุญาตไว้โดยกฎหมายก็ดี เช็คเช่นนี้ถ้าธนาคารใดใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ ท่านว่าธนาคารนั้นไม่ต้องรับผิดหรือต้องมีหน้าที่รับใช้เงินอย่างใด ๆ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 997” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 997 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2534
โจทก์ฟ้องว่า เงินตามเช็คพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การว่าการที่จำเลยนำเงินตามเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของ ส. เพราะทำตามคำสั่งของ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิด ผู้ร้องสอดร้องสอดว่า เงินตามเช็คพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ดังนั้น ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่า ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาท ไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น แม้ว่าโจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างอาคารเรียนและเป็นผู้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวกับ ก. ก็ตาม เมื่อผู้ร้องสอดอ้างว่า ผู้ร้องสอดยืมชื่อโจทก์มาใช้ในการยื่นซองประกวดราคาและทำสัญญาจ้างเหมาเท่านั้น ส่วนการลงทุนก่อสร้างอาคารเรียน ผู้ร้องสอดแต่ผู้เดียวเป็นผู้ลงทุนผู้ร้องสอดมีหลักฐานการรับเงินค่าตอบแทนของโจทก์หลักฐานการจ่ายค่าจ้างให้แก่ภริยาจำเลยในการรับจ้างก่อสร้าง และยังมีพยานบุคคลมาสืบว่าได้รับจ้างผู้ร้องสอดก่อสร้างอาคารเรียน เมื่อฟังประกอบกับการที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างจาก ก. ทั้งหมดแทน พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงว่าโจทก์เป็นเพียงตัวแทนเชิดของผู้ร้องสอด ในการรับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับ ก. ดังนั้นแม้ ก. จะจ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างอาคารเรียนเป็นเช็คระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และขีดคร่อมระบุให้เข้าบัญชีของผู้รับเท่านั้นก็ตาม เช็คดังกล่าวก็เป็นของผู้ร้องสอด จำเลยนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของ ส. หุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของเงินตามเช็คที่แท้จริงและโจทก์ตกลงให้กระทำได้นั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 821, ม. 994, ม. 995, ม. 997, ม. 998, ม. 1000
ป.วิ.พ. ม. 57, ม. 58, ม. 173, ม. 183


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2519
เช็คที่จำเลยออกให้ ส. ไม่ใช่เช็คขีดคร่อม กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 997 วรรค 3 ซึ่งบัญญัติยกเว้นความรับผิดของธนาคารไว้ เมื่อธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อและแม้เงินในบัญชีของจำเลยจะมีไม่พอจ่ายก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ก็หาได้บังคับโดยเฉียบขาด มิให้ธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีของผู้เคยค้าไม่ดังนั้นจำเลยต้องรับผิดต่อธนาคารโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 987, ม. 991, ม. 997


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634/2492
ธนาคารจ่ายเงินไปตามเช็คที่ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนั้น ธนาคารจะอาศัยสิทธิทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นด้วยการจ่ายเงินหรือธนาคารจะใช้สิทธิหักเงินที่จ่ายจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายย่อมไม่อาจจะทำได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ธนาคารย่อมเป็นผู้ต้องรับผิดเอง โดยจะหักเงินนั้นจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายหาได้ไม่
เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมกับเช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงินผู้สลักหลังปลอมนั้นหาเหมือนกันไม่เช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงินหรือผู้สลักหลังปลอมนั้น ตามมาตรา 1009 ธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงินหรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆ ได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจ แต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอม หรือปราศจากอำนาจก็ตาม ถ้าหากธนาคารได้จ่ายเงินไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านก็ให้ถือว่า ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยถูกระเบียบ เมื่อพิจารณามาตรา 1008 และ 1009 เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะแลเห็นได้ชัดว่า กฎหมายประสงค์ให้ธนาคารใช้ความระมัดระวังในเรื่องลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายยิ่งกว่าในเรื่องลายมือชื่อของผู้รับเงิน หรือผู้สลักหลัง และกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ธนาคารที่จ่ายเงินไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตปราศจากประมาทเลินเล่อก็แต่ในกรณีที่ลายมือชื่อผู้รับเงินหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอมเท่านั้น ส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนั้นกฎหมายหาได้ให้ความคุ้มครองอย่างเดียวกันไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 991, ม. 997, ม. 1008, ม. 1009
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที