Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 994 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 994 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 994” คืออะไร? 


“มาตรา 994” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 994 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า “และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น
              ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 994” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 994 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3890/2553
เช็คขีดคร่อมและห้ามแปลี่ยนมือที่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก จะเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นได้ก็แต่เฉพาะเข้าบัญชีบัญชีของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตา 994 การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 ผู้รับเช็คต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาขอเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยแจ้งว่า การนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คประมาณ 2 สัปดาห์ และพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 ขอ โดยเปลี่ยนเช็คดังกล่าวเป็นตั๋วแลกเงินจึงเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 สามารถนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนชำระค่าสินค้าของลูกค้ารายอื่นของโจทก์ แม้มีการนำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์แล้ว แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของงวดเดือนใด ทั้งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าในงวดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. ชำระค่าสินค้าได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์เป็นผู้นำเสียเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ไปแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินจากจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อพนักงานจำเลยที่ 1 ว่าตนเป็นพนักงานของโจทก์ และแจ้งว่าการนำเช็คที่มีชื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามวิธีการปกติจะทำให้เกิดการล่าช้าจนทำให้พนักงานของจำเลยที่ 1 เชื่อตามที่จำเลยที่ 2 แจ้ง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนที่ทำให้เกิดความเสียหายด้วยเนื่องจากไม่ดูแล ตรวจสอบและควบคุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ให้ดี ทั้งๆ ที่รู้ว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินหรือรับชำระด้วยเช็คจากลูกค้า กลับปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถือได้ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของโจทก์ผู้ต้องเสีหายประกอบด้วยตามป.พ.พ. มาตรา 442
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 442, ม. 994


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2547
การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และเป็นเช็คมีข้อความระหว่างเส้นขีดคร่อมว่า A/C PAYEE ONLY ไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ภ. เจ้าหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำในขอบอำนาจของกรรมการโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และบริษัท ภ. ต่างก็มีกรรมการชุดเดียวกันรวม 5 คน หากกรรมการอื่นอีก 4 คน เห็นว่าจำเลยร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการไม่ถูกต้อง ก็ย่อมสามารถใช้สิทธิในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. สั่งให้โอนเงินตามเช็คพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 70, ม. 994, ม. 995, ม. 1000


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2543
เช็คขีดคร่อมจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อเช็คพิพาทมีลักษณะพิเศษเช่นนั้น ธนาคารจำเลยที่ 6 ผู้รับเช็คมาเรียกเก็บเงินก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายโดยเคร่งครัด กล่าวคือจะต้องเรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัท ท. หรือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับเงินตามเช็คเท่านั้น จะเรียกเก็บเงินให้แก่ธนาคารจำเลยที่ 6 เพื่อเข้าบัญชีบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทอื่นที่มิใช่ผู้รับเงินตามเช็คนั้นไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติที่ผิดทั้งกฎหมายและระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 6 จะอ้างเพียงว่ากรรมการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัท ท. และบริษัท อ. เป็นกรรมการบริหารชุดเดียวกันจึงอนุโลมให้หาได้ไม่ ดังนั้น จึงต้องถือว่าธนาคารจำเลยที่ 6 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความว่าการที่ธนาคารจำเลยที่ 6 เรียกเก็บเงินตามเช็คเข้าบัญชีของบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทอื่น โดยไม่เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของบริษัท ท. หรือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าธนาคารจำเลยที่ 6 บังอาจเรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมซึ่งขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออกและกำหนดห้ามโอนเปลี่ยนมือไว้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จนได้รับเงินไป การกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ย่อมแปลความหมายได้ว่าการกระทำของธนาคารจำเลยที่ 6 เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามเช็คดังกล่าวและโจทก์ที่ 1 ต้องเสียหายเพราะโจทก์ที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ที่ 1 อันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ต้องเสียหายแก่ทรัพย์สินแล้ว ข้อที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวของธนาคารจำเลยที่ 6 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 994 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 249
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที