Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 991 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 991 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 991” คืออะไร? 


“มาตรา 991” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 991 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารให้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
              (๑) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
              (๒) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ
              (๓) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 991” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 991 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22658/2555
ก. ออกเช็คสั่งให้ธนาคารโจทก์ร่วมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือ จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคารในขณะที่จำเลยเป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้มีเช็คไว้ในครอบครองในฐานเป็นผู้รับเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็คได้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารโจทก์ร่วมจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่ง ก. ผู้เคยค้ากับธนาคารโจทก์ร่วมให้แก่จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีเงินในบัญชีของ ก. เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตาม (1) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 991 ซึ่งให้สิทธิแก่ธนาคารโจทก์ร่วมที่จะไม่จ่ายเงินตามเช็คได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เคยค้าหรือผู้สั่งจ่าย หรือธนาคารโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นก็ได้ ซึ่งครั้งแรกธนาคารโจทก์ร่วมใช้สิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะดำเนินการทางบัญชีผิดพลาดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อจากพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วม โดยธนาคารโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินไปตามที่ ก. ออกเช็คสั่งจ่ายมา ถือว่าธนาคารโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจจ่ายเงินตามเช็คแล้วภายหลังจะอ้างว่าสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินในบัญชีของ ก. พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น เพื่อนำมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโอนเข้าบัญชีของจำเลยผู้ทรงเช็คโดยสุจริตโดยสำคัญผิดหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 352 วรรคสอง
ป.พ.พ. ม. 904, ม. 991
ป.วิ.อ. ม. 46


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2552
โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยนำเงิน 70,000 บาท ของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 70,000 บาท ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินให้แก่จำเลยในฐานะนายประกัน จำเลยมอบเช็คให้โจทก์แต่ไม่ยอมมาเบิกเงินตามเช็คจากธนาคารคืนโจทก์ แต่จำเลยอยู่ในฐานะผู้ทรงที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คมิใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน หากจำเลยไม่ชำระ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตามมาตรา 214 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารตามเช็คซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คที่ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินให้แก่โจทก์ก็ไม่ได้
ตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยมาเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้องอันเป็นเพียงวิธีการบังคับชำระหนี้เป็นตัวเงิน แต่เมื่อมีหนี้เงินดังกล่าวซึ่งจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 214, ม. 810, ม. 904, ม. 991
ป.วิ.พ. ม. 142


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2543
สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ และไม่ต้องทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจึงอาจเกิดจากการแสดงเจตนา โดยแจ้งชัดหรือตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันเห็นได้ว่ามีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว
ตามคำขอใช้บริการของจำเลย มีข้อตกลงการสั่งจ่ายเงินและการถอนเงินว่า ในการสั่งจ่ายหรือถอนเงินให้ใช้เช็คซึ่งธนาคารมอบให้ใช้สำหรับแต่ละบัญชีโดยเฉพาะเท่านั้น และในกรณีที่ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันการจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตามทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินเสียก็ได้ หรือในกรณีผู้ฝากนำเช็คเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้น ธนาคารโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารโจทก์ยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บ จำเลยผู้ฝากยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่ธนาคารโจทก์ผ่อนผันจ่ายไปนั้นคืนให้แก่ธนาคารโจทก์ โดยถือเสมือนว่าผู้ฝากเป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัด และ หรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารโจทก์ และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่ธนาคารโจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืม นับแต่วันที่เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ตามบัญชีเดินสะพัดและ หรือเบิกเงินเกินบัญชี ตามวิธีและประเพณีของธนาคาร หลังจากมีคำขอดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ถอนเงินและฝากเงินมีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนมาโดยตลอด ทั้งโจทก์ได้ส่งใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดไปยังจำเลยเช่นนี้ฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 แล้ว หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ไม่
สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 การเลิกสัญญาดังกล่าวอาจแสดงเจตนาโดยแจ้งชัดหรือโดยพฤติการณ์
หลังจากจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายแล้วจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกหรือถอนเงินต่อไป ทั้งจำเลยก็มิได้นำเงินเข้าบัญชีอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเป็นอันสิ้นสุดในวันอันเป็นวันครบกำหนดหักทอนบัญชีกันเดือนละครั้งตามที่ปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอด หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้อีก คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ตกลงกันมาตั้งแต่แรกจากเงินต้นจำนวนที่จำเลยค้างชำระในวันดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 199/33(1)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/33 (1), ม. 856, ม. 859, ม. 991
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที