Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 990 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 990 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 990” คืออะไร? 


“มาตรา 990” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 990 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น
              อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น ท่านให้รับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 990” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 990 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2557
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทด้วย โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการค้ำประกันหรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน เช่นนี้ ต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันตนในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 หาใช่เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 990 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 900 วรรคหนึ่ง, ม. 990 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2544
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ชำระเงินตามเช็คพิพาทซึ่ง ป. ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โดยระบุรายละเอียดของเช็คพิพาทและแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทมาท้ายคำฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับที่ให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นสำหรับจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ครบถ้วนแล้ว ส่วนมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจะเป็นการชำระหนี้อะไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่เคลือบคลุม
แม้จำเลยที่ 1 จะได้จดทะเบียนนิติบุคคลว่า ป. เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร น. โดยให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเฉพาะกรรมการอื่น 4 คน โดยไม่ปรากฏตัวอย่างลายมือชื่อของ ป. ด้วย ป. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคาร น. แทนจำเลยที่ 1 การที่ ป. ร่วมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่มีอำนาจสั่งจ่ายแทนจำเลยที่ 1 และมิได้ระบุว่าการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แล้วนำเช็คพิพาทไปแลกกับเช็คฉบับอื่นซึ่ง ป. สั่งจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ส่วนตัว ป. จึงต้องร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทเป็นการส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900
การที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนด 1 เดือน หรือ 3 เดือน นับแต่วันออกเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 วรรคหนึ่ง คงมีผลเพียงทำให้โจทก์สิ้นสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้สลักหลังและเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้สั่งจ่ายจะต้องพิสูจน์เพื่อให้พ้นความรับผิด แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้นำสืบว่าการที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทภายในกำหนดทำให้เกิดความเสียหายแก่ ป. ในฐานะผู้สั่งจ่าย ป. จึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 900, ม. 990
ป.วิ.พ. ม. 172


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2542
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอัน จะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 921, ม. 940, ม. 967, ม. 989, ม. 990
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที