Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 982 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 982 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 982” คืออะไร? 


“มาตรา 982” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 982 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับเงิน

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง " ตั๋วสัญญาใช้เงิน " ได้ที่นี่ คลิกเลย!

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 982” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 982 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2556
ถ. ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม ถ. ก็มีความความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจาก ถ. ถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ถ. จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของ ถ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 940, ม. 982, ม. 985, ม. 1601


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5678/2545
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 60 ล้านบาทเศษ โดยมีข้อตกลงว่า โจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญาไว้ 2 ล้านบาท และจะจ่ายเงินอีก 16 ล้านบาทเศษในอีก 8 เดือน ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนจำนวนที่เหลืออีกประมาณ 42 ล้านบาท โจทก์จะชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งมีกำหนดใช้เงินหลังจากที่โอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 1 ปีเศษ โดยในสัญญามิได้ระบุว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ต้องชำระนั้นต้องให้ธนาคารเป็นผู้อาวัลด้วย กรณีเช่นนี้ศาลจำต้องค้นหาเจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 และในการตีความการแสดงเจตนานั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ด้วย เมื่อโจทก์ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยย่อมมีอำนาจต่อรองในการทำสัญญามากกว่าจำเลย จำเลยจะได้รับเงินที่เหลืออีก 42 ล้านบาทเศษเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินหลังจากทำสัญญาแล้วถึง2 ปี ดังนั้น การที่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์นำมามอบให้แก่จำเลยไม่มีอาวัลของธนาคารย่อมทำให้จำเลยไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับเงินเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ประกอบกับหลังทำสัญญาโจทก์ขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อลงทุนในโครงการสำหรับที่ดินที่ทำสัญญากับจำเลยนี้รวม 155 ล้านบาท เพื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน 43 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับจำนวนตามตั๋วสัญญาใช้เงินในคดีนี้ อันแสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติและปกติประเพณีของการซื้อขายที่ดินที่มีราคาสูง หากผู้จะซื้อที่ดินจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระค่าที่ดินผู้ออกตั๋วจะต้องให้ธนาคารอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวด้วย ประเพณีเช่นนี้แม้มิได้เขียนไว้ในสัญญาก็ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติโดยปริยาย การที่โจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีอาวัลของธนาคาร จำเลยย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 171, ม. 368, ม. 456 วรรคสอง, ม. 921, ม. 982


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7336/2540
แม้โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทำไว้ต่อโจทก์ โดยมิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินก็ตาม แต่จำเลยได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมในฐานะผู้ออกตั๋วเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดที่จะชำระเงินตามตั๋วให้แก่จำเลย คดีจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย
จำเลยร่วมได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งมีธนาคารโจทก์สาขา จ. เป็นผู้รับอาวัล ให้แก่จำเลย โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ณ ที่ธนาคารโจทก์สาขา จ. ต่อมาก่อนวันถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปทำสัญญารับชำระหนี้หรือขายลดให้แก่ธนาคารโจทก์สาขา พ. โดยสัญญาว่า ถ้าเรียกเก็บเงินตามตั๋วไม่ได้ จำเลยยอมรับผิดชำระเงินที่ปรากฏในตั๋วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้จะเป็นเพราะศาลชั้นต้นสั่งอายัดชั่วคราวไว้ในคดีเรื่องอื่นตามคำร้องขอของจำเลยร่วมก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อโจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ตามสัญญาให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมีโจทก์เป็นผู้รับอาวัล ดังนั้น หากจำเลยได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ไปตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยก็จะได้ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมาไว้ในครอบครองในฐานะเป็นผู้รับเงินและเป็นผู้ทรงตั๋วมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ผู้รับอาวัลและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วได้อีก เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงและโจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสามแล้ว ตั้งแต่วันฟ้อง ฉะนั้น นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยจึงไม่จำต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์อีก ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อจำเลยผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยร่วมคงรับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย ฉะนั้นดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทมิได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ และอัตราดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(2) ประกอบมาตรา 985บัญญัติให้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 5 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและต้องรับผิดในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยร่วมจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวนี้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 369, ม. 940, ม. 967, ม. 968, ม. 982, ม. 985
ป.วิ.พ. ม. 57 (3), ม. 58, ม. 142 (5), ม. 147, ม. 183, ม. 246, ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที