Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 968 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 968 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 968” คืออะไร? 


“มาตรา 968” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 968 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ
              (๑) จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อกำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย
              (๒) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด
              (๓) ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัดจากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
              (๔) ค่าชักส่วนลดซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ ๑/๖ ในต้นเงินอันจะพึงใช้ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้
              ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 968” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 968 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 916, ม. 968 (2), ม. 986
พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ม. 30


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2554
ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงินอันมีลักษณะเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ย่อมโอนกันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ การสลักหลังต่อไปย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 920 วรรคหนึ่ง และผู้ทรงซึ่งเป็นผู้รับโอนตั๋วเงินไปชอบที่จะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยในจำนวนเงินในตั๋วเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 968(1) การที่ตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดให้คิดดอกเบี้ยก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามความในมาตรา 911 จำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นจำนวนที่ต้องรวมเป็นยอดเงินที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้รับอาวัลต้องผูกพันรับผิดเมื่อมีการไล่เบี้ย การสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินจึงต้องเป็นการโอนไปทั้งจำนวนเต็มของยอดเงินที่กำหนดไว้ในตั๋วเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามผลของมาตรา 911 กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้มีการให้มีการจ่ายดอกเบี้ยออกไปจากตั๋วสัญญาใช้เงินก่อนได้ เพราะจะทำให้ความรับผิดในตั๋วสัญญาใช้เงินลดลง การระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินให้จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจึงเป็นการกำหนดข้อความอื่นใด ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 21 เรื่องตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่ตามมาตรา 899 ดังนั้น ข้อความที่เขียนให้มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็น "รายเดือน" จึงถือเสมือนว่าไม่มีการเขียนลงไว้ในตั๋วเงินโจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 899, ม. 911, ม. 920 วรรคหนึ่ง, ม. 968 (1)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.8/2542 เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ป. ข้อนี้จำเลยก็ไม่นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ระงับ จำเลยผู้ค้ำประกันด้วยอาวัลจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 349, ม. 654, ม. 911, ม. 968 (1), ม. 985
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที