Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 940 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 940 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 940” คืออะไร? 


“มาตรา 940” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 940 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
              แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์
              เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 940” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 940 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19392/2556
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทห้าฉบับให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง นำเช็คพิพาททั้งห้าฉบับดังกล่าวมาชำระหนี้เงินกู้และค่าสินค้าแก่โจทก์ แม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทดังกล่าวมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสลักหลังเช็คทั้งหมดแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 และมาตรา 921, 940 ประกอบมาตรา 989 แม้มูลหนี้ที่โจทก์รับเช็คดังกล่าวไว้ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจะแตกต่างจากคำฟ้องไปบ้าง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งห้าฉบับได้ หาได้เป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์หักดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อวัน และมีการนำไปหักกลบลบหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยที่ 2 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่อาจนำสืบได้ จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ เนื้อหาของฎีกาส่วนดังกล่าวล้วนแต่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาทั้งสิ้น โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 87, ม. 142, ม. 249 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ. ม. 900, ม. 921, ม. 940, ม. 989


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2556
ถ. ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม ถ. ก็มีความความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจาก ถ. ถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ถ. จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของ ถ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 940, ม. 982, ม. 985, ม. 1601


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15154/2555
จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ที่ตนประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 และ 940 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จึงเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้น หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 921, ม. 940, ม. 989 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. ม. 245 (1), ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที