Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 938 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 938 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 938” คืออะไร? 


“มาตรา 938” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 938 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”
              อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 938” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 938 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2548
โจทก์ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน (อาวัล) จำเลยที่ 1 ในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงและโจทก์ต้องผูกพันรับผิดต่อผู้ทรงเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงแทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปจำนำไว้แก่โจทก์เป็นประกันการที่โจทก์ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจำนำมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ยอมให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ได้ทันที แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะถูกองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาจำนำ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่รับจำนำไว้ หนี้ตามสัญญาใช้เงินที่โจทก์อาวัลยังไม่ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิด
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 747, ม. 938, ม. 940


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2534
ตามบันทึกการกู้ยืมเงินมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้เงินโจทก์ได้ออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อเป็นประกันเงินกู้แต่เมื่อบันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังอาวัลเช็คพิพาทมิได้เข้าเป็นคู่สัญญาด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจเอาข้อตกลงตามบันทึกที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มาเป็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกกู้ยืมให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า โจทก์เติมวันเดือนปีที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอง มิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 122, ม. 900, ม. 938, ม. 940
ป.วิ.พ. ม. 249


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2533
จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของตนโจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนาย และคำให้การ เมื่อเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ศาลมีอำนาจอาศัยลายมือชื่อดังกล่าวตรวจเปรียบเทียบ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า เพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่ มูลหนี้คดีนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท มิได้ทำสัญญากู้กันไว้ แต่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท มอบให้โจทก์อีกโดยตกลงว่าเพื่อเป็นประกัน เช็คพิพาทจึงออกเพื่อประกันการกู้ยืมเงินด้วย โจทก์มีสิทธิฟ้องได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายระบุชื่อ โจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก และมุม ซ้ายบนของด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัล หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลแต่การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและจำเลยทั้งสองนำเช็คไปมอบให้โจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย คำขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดเพราะโจทก์มีเพียงคนเดียวจะขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ย่อมไม่ได้ ทั้งในที่อื่นตามฟ้องทั้งหมดได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ขอให้ชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จนถึงวันที่ชำระเสร็จตามคำพิพากษาได้.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 728, ม. 900, ม. 914, ม. 938, ม. 939
ป.วิ.พ. ม. 87, ม. 142, ม. 172
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที