Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 920 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 920 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 920” คืออะไร? 


“มาตรา 920” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 920 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
              ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
              (๑) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
              (๒) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
              (๓) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 920” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 920 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2554
ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงินอันมีลักษณะเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ย่อมโอนกันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ การสลักหลังต่อไปย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 920 วรรคหนึ่ง และผู้ทรงซึ่งเป็นผู้รับโอนตั๋วเงินไปชอบที่จะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยในจำนวนเงินในตั๋วเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 968(1) การที่ตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดให้คิดดอกเบี้ยก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามความในมาตรา 911 จำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นจำนวนที่ต้องรวมเป็นยอดเงินที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้รับอาวัลต้องผูกพันรับผิดเมื่อมีการไล่เบี้ย การสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินจึงต้องเป็นการโอนไปทั้งจำนวนเต็มของยอดเงินที่กำหนดไว้ในตั๋วเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามผลของมาตรา 911 กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้มีการให้มีการจ่ายดอกเบี้ยออกไปจากตั๋วสัญญาใช้เงินก่อนได้ เพราะจะทำให้ความรับผิดในตั๋วสัญญาใช้เงินลดลง การระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินให้จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจึงเป็นการกำหนดข้อความอื่นใด ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 21 เรื่องตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่ตามมาตรา 899 ดังนั้น ข้อความที่เขียนให้มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็น "รายเดือน" จึงถือเสมือนว่าไม่มีการเขียนลงไว้ในตั๋วเงินโจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 899, ม. 911, ม. 920 วรรคหนึ่ง, ม. 968 (1)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 917, ม. 920, ม. 967 วรรคสาม, ม. 989 วรรคแรก
ป.วิ.พ. ม. 4 (1)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339/2539
เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารก.เพื่อขายลดเช็ค ย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นธนาคารก. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ และเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยังเป็นผู้ทรงเช็คอยู่ครั้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ธนาคารก.และรับเช็คพิพาทคืนมาโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช่ผู้ทรงเช็ค ขณะนั้นไม่จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงิน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 920, ม. 989, ม. 1003
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที