Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 918 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 918 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 918” คืออะไร? 


“มาตรา 918” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 918 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 918” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 918 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22089/2555
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสองและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกา แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปด้วยการส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมา จึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคสอง
ป.พ.พ. ม. 904, ม. 916, ม. 918, ม. 989 วรรคหนึ่ง
ป.รัษฎากร ม. 103


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10595/2551
ผู้ทรงเช็คผู้ถือมีสิทธิโอนโดยการส่งมอบเช็คให้แก่โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยผู้สั่งจ่ายไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และเมื่อเช็คพิพาทตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือโดยโจทก์อ้างว่ามีผู้นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ และจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 และมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่งจำเลยไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงมิให้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และต่อมาได้มีการหักกลบลบหนี้กันระหว่างจำเลยกับ ช. แล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาทอีกต่อไปแล้วนั้น เป็นการต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยกับ ช. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ในกรณีที่ ช. หรือผู้ทรงคนถัดไปโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 224, ม. 900, ม. 904, ม. 910, ม. 914, ม. 916, ม. 918, ม. 989


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8296/2551
เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918, 989 โจทก์ผู้รับโอนเช็คจึงเป็นผู้ถือและเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในมูลหนี้ตามตั๋วเงินคือเช็คไม่อาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับ จ. ผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้ จ. โดยไม่มีมูลหนี้ แต่เป็นการค้ำประกันในการเล่นแชร์ระหว่างกัน คำให้การดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับ จ. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ฉะนั้นจำเลยจะยกความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ามีการโอนเช็คและคบคิดฉ้อฉลกันอย่างไร และในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 การที่ จ. ให้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ได้ตาม มาตรา 904 และมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็มิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร คำให้การจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าแชร์จาก จ. ครบหรือไม่เพียงใดก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ จ. โดยตรงต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ลงชื่อสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือก็จะปัดตนให้พ้นความรับผิดไปหาได้ไม่ เพราะฐานะของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นประกันหรืออาวัลสำหรับผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921,940 ประกอบมาตรา 989
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 900, ม. 904, ม. 914, ม. 916, ม. 918, ม. 921, ม. 940, ม. 989
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที