“มาตรา 910 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 910” คืออะไร?
“มาตรา 910” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 910 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน
ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 910” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 910 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม และจำเลยยังมิได้ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ผู้ให้กู้ เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควร เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลังถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการปลอมเช็คดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมไม่ การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย จึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เรื่อง ตั๋วเงิน โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 84
ป.พ.พ. ม. 93 วรรคหนึ่ง, ม. 910 วรรคท้าย, ม. 989
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2559
โจทก์และจำเลยร่วมกันเล่นแชร์ จำเลยประมูลแชร์ไปแล้วออกเช็คผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ระบุจำนวนเงินค่าแชร์มอบให้ ว. ไว้ โจทก์ยังไม่ได้ประมูลแชร์และได้รับเช็คดังกล่าวจาก ว. โดยสุจริตเพื่อชำระค่าแชร์ ต่อมาแชร์ล้มและ ว. หลบหนี โจทก์หมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้โจทก์ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้มตั้งแต่งวดวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามข้อตกลงเล่นแชร์แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวงแชร์ล้มเป็นเวลากว่า 3 ปี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตและจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็ค ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1002
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ถูกต้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
ป.พ.พ. ม. 910, ม. 1002
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2559
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสิบสามฉบับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในหนึ่งปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ อ. เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 900, ม. 904, ม. 910, ม. 914, ม. 989
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 23