“มาตรา 898 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 898” คืออะไร?
“มาตรา 898” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 898 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่ง คือตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่ง คือตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่ง คือเช็ค “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 898” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 898 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7749/2554
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติให้ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดี เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายสินค้าและจัดส่ง และได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้จัดซื้อรถยกและชั้นวางสินค้าไว้ใช้ในคลังสินค้าของบริษัทนายจ้าง แต่ในการเจรจาซื้อสินค้าดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โจทก์เรียกค่าตอบแทนในการจัดซื้อสินค้าไว้เป็นการส่วนตัว และจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประพฤติทุจริตเบียดบังสิทธิและผลประโยชน์อันมิควรได้ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่การงานและความไว้วางใจของนายจ้างที่ให้อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อตกลงเรียกเงินค่าตอบแทนในการเจรจาซื้อขายสินค้าดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 583, ม. 898, ม. 900
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2548
ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนังสือลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ถึงโจทก์ผู้รับประโยชน์บอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงินสินไหมมรณกรรม จึงเป็นการผิดสัญญาและถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจำเลยได้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่นับแต่วันผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224, ม. 898
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042 - 9043/2547
แม้เช็คเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารสิทธิ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ได้ เช็คถือเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 898 การที่จำเลยนำเช็คธนาคาร ก. ของโจทก์ร่วมมาแก้ไขและเติมข้อความในช่องสั่งจ่ายบ้าง ช่องจำนวนเงินบ้างหรือปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมในช่องสั่งจ่าย แล้วนำเช็คไปขอเบิกเงินจากธนาคาร ก. ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่แท้จริงของโจทก์ร่วม จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการแก้ไขเติมข้อความและลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่โจทก์ร่วมทำขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมและธนาคาร ก. การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน จำเลยหาจำต้องปลอมเช็คขึ้นทั้งฉบับ จึงจะเป็นความผิดฐานปลอมตั๋วเงินตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมตั๋วเงินและนำไปใช้เอง จึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย คือลงโทษในบทมาตราที่เบากว่า ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด
เมื่อศาลฎีกาได้ยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยแล้ว แม้จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงรวมทั้งดุลพินิจในการกำหนดโทษได้ตามที่เห็นสมควร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 898
ป.อ. ม. 1 (9), ม. 3 วรรคแรก, ม. 90, ม. 265, ม. 266 (4), ม. 268
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง