Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 897 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 897 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 897” คืออะไร? 


“มาตรา 897” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 897 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
              ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 897” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 897 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4 วรรคสอง, ม. 897 วรรคหนึ่ง, ม. 1470, ม. 1501, ม. 1629 (1), ม. 1630 วรรคสอง, ม. 1635 (1)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2544
โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลต่อการเสียชีวิตของบุคคลผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ แม้จะเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่ก็มิใช่กรณีที่ผู้ตายเอาประกันชีวิตตนเองไว้ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ตกได้แก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยโดยตรง หาใช่เป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้ตายไม่ โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อการเสียชีวิตของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ในขณะเกิดเหตุจากจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 171, ม. 368, ม. 862, ม. 889, ม. 897


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 897 วรรคสอง, ม. 1470, ม. 1600, ม. 1625
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง, ม. 249 วรรคสอง
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที