Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 889 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 889 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 889” คืออะไร? 


“มาตรา 889” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 889 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 889” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 889 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2565
ส. ทำคำขอเอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท โดยมีเจตนาให้เฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ มิได้มีเจตนาให้ทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย การจ่ายเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวย่อมเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ เมื่อผู้ได้รับความคุ้มครองเสียชีวิตบริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ใด ๆ ภายใต้ข้อกำหนดกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุนั้น หากมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่กองมรดกของผู้ได้รับความคุ้มครอง เมื่อพิจารณาประกอบกับความตอนต้นแห่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุให้คำขอเอาประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ ส. โดยระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์นั้นไม่ตรงกับเจตนาของ ส. และไม่เป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทส่วนที่ระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์จึงไม่มีผลบังคับและไม่ผูกพัน กรมธรรม์ประกันภัยส่วนที่กำหนดผู้รับประโยชน์ย่อมต้องถือตามที่ระบุในคำขอเอาประกันภัยของ ส. จำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 889, ม. 891


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2564
สำหรับสัญญาประกันภัยฉบับที่ 1 ที่โจทก์ร่วมทำไว้ต่อบริษัท อ. เป็นสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เมื่อบริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ดังกล่าว การประกันภัยเฉพาะข้อตกลงคุ้มครองกรณีการรักษาพยาบาลย่อมถือเป็นการประกันความเสียหายเกี่ยวกับการเสี่ยงภัยกรณีบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ การชำระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง ไม่ใช่การชดใช้จำนวนเงินแน่นอนตามที่ตกลงไว้ในสัญญาสำหรับความเสียหายที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินได้ และไม่ได้อาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน จึงเป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การประกันชีวิต เมื่อบริษัท อ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้แก่โรงพยาบาลทั้งสามแทนโจทก์ร่วมไปแล้วรวม 100,989 บาท บริษัท อ. ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ร่วมมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 โจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้จากจำเลยได้อีก จึงต้องนำเงิน 100,989 บาท ไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 เป็นสัญญาประกันชีวิต ซึ่งมีข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นการรักษาในโรงพยาบาลและการศัลยกรรมกับสัญญาประกันสุขภาพรวมอยู่ด้วย เมื่อเงินที่บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ร่วมเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงเพิ่มเติมผลประโยชน์อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับ จึงถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่บริษัท อ. พึงใช้ให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาประกันชีวิตซึ่งอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้บริษัท อ. ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ร่วมไปตามกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งสองฉบับข้างต้นแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่มีต่อจำเลยระงับไปไม่ โจทก์ร่วมยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้อีก ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงหาได้เป็นจำนวนเงินที่ต้องนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องรับผิด คงต้องหักออกเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ร่วมได้รับมาตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 300 (เดิม)
ป.พ.พ. ม. 880, ม. 889
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43 (4), ม. 157


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 861, ม. 862, ม. 889
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ม. 7, ม. 18, ม. 91
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที